บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) เป็นระดับ "A-" จากเดิมที่ระดับ "BBB+" พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Stable" หรือ "คงที่" จาก "Negative" หรือ "ลบ" ทั้งนี้ การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นจากการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 รวมถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันจากการเป็นผู้ประกอบการยางธรรมชาติตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นต้นของปลายน้ำ (Vertical Integration) และประวัติผลงานที่ดีของคณะผู้บริหาร ทว่า ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะความเป็นวงจรและผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมทั้งความท้าทายต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและไม่แน่นอนเป็นอย่างมากในขณะนี้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
โครงสร้างเงินทุนและอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญปรับตัวดีขึ้น
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากหลังจากบริษัทศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกใน ต.ล.ท. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563และได้รับรายได้สุทธิจำนวน 1.46 หมื่นล้านบาท บริษัทตั้งใจที่จะนำรายได้จำนวน 1.11 หมื่นล้านบาทไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในระหว่างปี 2563-2569 ส่วนรายได้จำนวน 2.3 พันล้านบาทนั้นบริษัทจะนำไปชำระหนี้เงินกู้ และส่วนที่เหลือจำนวน 1.2 พันล้านบาทจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยมาอยู่ที่ระดับ 11.3% ณ เดือนมิถุนายน 2563 จาก 51.7% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 20%-30% ในช่วงปี 2563-2565
ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น
ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2562 เป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ระดับ 6.03 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 3.3 พันล้านบาท
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเติบโต 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 3.28 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจถุงมือยางเพิ่มขึ้นเป็น 27% จาก 20% ในปี 2562 ซึ่งเกิดจากความต้องการที่แข็งแกร่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
อัตรากำไรขั้นต้น (รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง) ปรับตัวดีขึ้นเป็น 15.3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 6.6% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุมาจากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการมีต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง และเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทั้งนี้ บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 1.9 พันล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่รายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 0.4 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2563 จะเติบโต 29% เมื่อเทียบกับปีก่อน และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 5% ในปี 2564 และ1% ในปี 2565 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 22% ในปี 2563 และจะปรับตัวลดลงเป็น 10%-12% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 ดังนั้น อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 19% ในปี 2563 และจะลดลงเป็น 8%-9% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565
ความต้องการที่แข็งแกร่งในธุรกิจถุงมือยาง
ทริสเรทติ้งมองว่าแนวโน้มธุรกิจถุงมือยางจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปในปีหน้า ทั้งนี้ จากรายงานของบริษัทและสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางของประเทศมาเลเซีย (Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association -- MARGMA) ประมาณการว่าความต้องการถุงมือยางทั่วโลกในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 360 พันล้านชิ้นต่อปี จาก 150 พันล้านชิ้นต่อปีในปี 2553 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 9% ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งทวีปยุโรป และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลทำให้ความต้องการถุงมือยางธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ยอดขายถุงมือยางของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 เติบโตสูงขึ้นถึง 45.6% หรือคิดเป็น 1.37 หมื่นล้านชิ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทมียอดคำสั่งซื้อสำหรับการผลิตถุงมือยางล้นไปจนถึงกลางปี 2565 ในการนี้ บริษัทวางแผนจะขยายกำลังการผลิตถุงมือยาง ให้เป็น 3.57 หมื่นล้านชิ้นในปี 2564 และ 4.58 หมื่นล้านชิ้นในปี 2565 จาก 3.26 หมื่นล้านชิ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2563
ธุรกิจยางธรรมชาติยังคงเผชิญกับความท้าทาย
จากรายงานขององค์กรศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (International Rubber Study Group -- IRSG) พบว่าในปี 2562 ผลผลิตยางธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงเมื่อบวกกับความต้องการบริโภคยางธรรมชาติที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงได้ส่งผลทำให้ราคายางธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ราคาเฉลี่ยของยางธรรมชาติในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากอุปสงค์ในธุรกิจยานยนต์ที่อ่อนตัวลงในช่วงที่มีการปิดประเทศทั่วโลกเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ภาวะชะงักงันของอุปสงค์ในช่วงการปิดเมืองมีผลทำให้อุตสาหกรรมยางธรรมชาติชะลอตัวโดยผู้ประกอบการในประเทศไทยบางรายที่มีปัญหาทางการเงินต้องหยุดกิจการ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตยางธรรมชาติชั้นนำในประเทศไทยยังคงสามารถบริหารจัดการธุรกิจต่อไปได้ในช่วงที่อุปสงค์ลดลงอย่างมาก ในขณะที่ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ในประเทศจีนจำนวนมากกลับมาเปิดโรงงานได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผลที่ตามมาก็คือผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่รอดเริ่มได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมยางธรรมชาติจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาในช่วงปี 2564-2565
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 1.3-3.7 พันล้านบาท ต่อปีในระหว่างปี 2563-2565 ในการนี้ ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานพื้นฐานสำหรับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาทถึง 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทและวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีกกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 127% ในปี 2563 และ 25%-35% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 19 เท่าในปี 2563 และ 7-9 เท่าต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
รายได้รวมของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 29% ในปี 2563 ที่ระดับ 5% ในปี 2564 และที่ระดับ 1% ในปี 2565
อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 22% ในปี 2563 และจะปรับตัวลดลงเหลือ 10%-12% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 19% ในปี 2563 และจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8%-9% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 3.1 พันล้านบาทในปี 2563 และ 5.6-7.9 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติเอาไว้ได้พร้อมทั้งมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารความเสี่ยงทั้งที่เกิดจากราคายางธรรมชาติและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างระมัดระวัง รวมทั้งยังคงรักษาสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังคงมีจำกัดในระยะใกล้หลังจากการเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้ ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่าระดับ 4 เท่า นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน