นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้างบลงทุน 5 ปีข้างหน้า (ปี 64-68) ที่ระดับ 5 หมื่นล้านบาท โดยใช้ลงทุนเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติได้ราว 3-4 แสนล้านบาท หลังมองไทยเป็นประเทศที่ต่างชาติยังต้องการเข้ามาลงทุนอยู่ เพียงแต่ช่วงนี้การเดินเข้ามาในไทยเป็นไปได้ลำบากและใช้เวลา 3-4เดือนเพื่อทำเอกสารและวีซ่า
อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาที่ต่างชาติจะเดินทางเข้าไทยใช้เวลานานกว่าการเดินทางเข้าประเทศเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามได้มีการผ่อนปรนให้กับประเทศที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่ำ เช่น จีน, ญี่ปุ่นสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ง่าย แม้จะมีมาตรการกักตัว 14 วันเหมือนกัน ดังนั้น หากไทยไม่ทำอะไรเลยหรือไม่มีมาตรการผ่อนปรนให้กับนักลงทุนต่างชาติเพื่อเดินทางเข้ามาลงทุนในไทย ก็มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะหันไปลงทุนในเวียดนามแทน
ปัจจุบัน WHA ก็มีการลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน-1 เหงะอานในเวียดนาม พบว่ายอดขายที่ดินเป็นไปได้ด้วยดีตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้ปีหน้าบริษัทมีแผนเตรียมการลงทุนพัฒนาพื้นที่ในโซน-2 และโซน-3 พร้อมกันเพื่อรองรับนักลงทุนต่างชาติที่ย้ายฐานมายังเวียดนาม
ขณะเดียวกัน WHA ก็มีแผนลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองฮานอย ในเวียดนาม โดยมีขนาดพื้นที่ 2 หมื่นไร่ ซึ่งทีมงานที่อยู่ในเวียดนามอยู่ระหว่างการเจรจา หากมีการเปิดให้เดินทางระหว่างประเทศได้ก็จะเดินทางไปเจรจารายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเร่งพัฒนาโครงการรองรับการย้ายฐานการลงทุนจากจีน หลังจากถูกกดดันจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน รวมทั้งการย้ายฐานจากทุนจากญี่ปุ่นและไต้หวัน
ดังนั้น บริษัทได้ตั้งงบการลงทุนในเวียดนามช่วง 5 ปีนี้จะอยู่ที่ 20% ของงบลงทุนทั้งกลุ่มบริษัทรวม 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5-10%ของงบลงทุนรวม เนื่องจากเวียดนามมีการเติบโตเร็วมาก
นางสาวจรีพร กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทได้ปรับลดเป้าหมายการขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมจากเดิมตั้งไว้ 1,400 ไร่ เหลือเพียง 900 ไร่ มาจากการขายที่ดินนิคมฯในไทย 600 ไร่ และเวียดนาม 300 ไร่ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่หากไทยยังไม่สามารถเปิดประเทศให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้ใน 2 เดือนข้างหน้านี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ดิน ทำให้บริษัทอาจต้องปรับลดเป้าการขายที่นิคมฯลงอีก 200-300 ไร่ โดยช่วงครึ่งปีแรกนี้บริษัทขายที่ดินได้เพียง 109 ไร่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้บริษัทจะมีการขายที่ในนิคมฯได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ก็รับรู้รายได้จากส่วนอื่นเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้ภาพรวมรายได้ในปี 63 จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ทำได้ประมาณ 13,385 ล้านบาท ปรับลดลงจากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 15%