BAY หนุนลูกค้าออกหุ้นกู้ ESG หวังต่อยอดปล่อย Sustainability link loan

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 27, 2020 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประกอบ เพียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าบรรษัทขนาดใหญ่ และรักษาการแทนผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงเดินหน้าการผลักดันเกี่ยวกับ ESG อย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับลูกค้าที่สอดคล้องกับประเด็นเกี่ยวกับ ESG โดยเฉพาะเครื่องมือด้านการระดมทุนให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจผ่านการออกหุ้นกู้ที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจไทยของธนาคารที่มีการใช้สินเชื่อในพอร์ตของธนาคารรวม 4.2 แสนล้านบาท

โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 63 มีหน่วยงานรัฐและธุรกิจเอกชนได้ออกหุ้นเกี่ยว Green Bond, Social Bond และ ESG Bond ได้ออกไปแล้วทั้งหมด 3.7 หมื่นล้านบาท และยังมีลูกค้าธุรกิจที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินออกหุ้นกู้ดังกล่าว ทำให้สิ้นปี 63 จะมีมูลค่าหุ้นกู้เกี่ยวข้องกับ ESG เพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนธนาคารจะคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท

ธนาคารตั้งเป้าภายในปี 66 การออกหุ้นกู้เกี่ยวข้องกับ ESG ของธนาคารจะเพิ่มเป็นมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท พร้อมกับการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสินเชื่อสำหรับลูกค้าธุรกิจไทยที่ต้องการกู้ยืมสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุนเกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainability link loan) ซึ่งอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่างกฎระเบียบ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเส็จภายในไตรมาส 1/64 โดยปัจจุบันธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อดังกล่าวได้แล้วคิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของพอร์ตลูกค้าธุรกิจไทยที่ 4.2 แสนล้านบาท และจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 1-2 เท่าตัว ในปี 66 หลังจากกฎระเบียบของก.ล.ต.แล้วเสร็จ

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน BAY กล่าวว่า สำหรับการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับ ESG มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนก.ย. 63 เติบโตไปแล้ว 39% คิดเป็นมูลค่า 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ ESG ในประเทศช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเติบโตขึ้นมากกว่าปีก่อนทั้งปีที่ 2.3 หมื่นล้านบาท มาจากตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ทั้งหมด โดย 9 เดือนที่ผ่านมาตราสารหนี้ ESG ออกไปแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) มูลค่า 7 พันล้านบาท

โดยมีภาครัฐและเอกชนที่ได้ออกตราสารหนี้เกี่ยวกับ ESG ในช่วงที่ผ่านมาไปแล้ว 3 ราย ได้แก่ กระทรวงการคลังที่ถือเป็นห่วยงานรัฐรายแรกในไทยที่ออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ ขณะที่ภาคเอกชนในปีนี้มี 2 ราย คือ บมจ.ปตท. (PTT) ที่ออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) มูลค่า 2 ล้านบาท และบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ได้ออก Green Bond มูลค่า 5 พันล้านบาท โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนต่างให้ความสนใจลงทุนตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ที่เดกี่ยวกับ ESG มากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่ให้ความสำคัญในการลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ดังกล่าว เพราะมีการกำหนดในข้อบังคับการลงทุน

"ธนาคารเห็นว่า ESG เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของธนาคารพาณิชย์ และช่วยผลักดันการเติบโตพอร์ตสินเชื่อให้กับธนาคารได้ ธนาคารและลูกค้าต่างเป็นธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน ธนาคารได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับลูกค้า และสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและสังคม"นายพูนสิทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ