ฟิทช์ คงอันดับเตรดิต CPALL ที่ A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 29, 2020 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของบมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ ?A(tha)? แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า CPALL จะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้ยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัทฯ ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แม้จะรวมพิจารณาถึงการเข้าลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 40 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (ต่อไปรวมกันเรียกว่า "เทสโก้ เอเชีย") สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้ายของประกาศ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

  • อัตราส่วนหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น: CPALL มีแผนที่จะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้สำหรับเงินลงทุนจำนวน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่จะใช้ในการลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 40 ของ เทสโก้ เอเชีย โดยสัดส่วนของหุ้นที่เหลือของเทสโก้ เอเชีย จะเข้าลงทุนโดยบริษัทที่เกี่ยวข้องอีก 2 บริษัทในกลุ่ม CP ในขณะที่ บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อถือส่วนได้ส่วนเสียทางเศรษฐกิจทั้งหมดของเทสโก้ เอเชียโดยตรง จะมีการก่อหนี้อีก 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ฟิทช์คาดว่า FFO adjusted net leverage ของ CPALL หลังจากการเข้าลงทุน จะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 5.5 เท่า ? 6.0 เท่า ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการลงทุนเต็มปี ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ในระดับ 5.0 เท่า ? 5.5 เท่าในปี 2565
  • การกระจายความเสี่ยงและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น: การเข้าลงทุนในเทสโก้ ประเทศไทย น่าจะทำให้สถานะทางการตลาดของ CPALL มีความแข็งแกร่งขึ้นและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้นทั้งในด้านประเภทของสินค้าและบริการที่เสนอขาย และรูปแบบของร้านค้าที่หลากหลาย แม้ว่า CPALL จะเข้าลงทุนถือหุ้นในสัดส่วนเพียงร้อยละ 40 ของเทสโก้ ประเทศไทย แต่ CPALL ก็น่าจะได้รับประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการควบรวมการสั่งซื้อสินค้าและการรวมเครือข่ายร้านค้ากว่า 13,000 ร้าน ทั้งในรูปแบบร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านค้าส่ง มาอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน

Tesco Lotus เป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำตลาดในประเทศไทย โดยมีเครือข่ายร้านค้าปลีกมากกว่า 1,900 ร้านทั่วประเทศไทย ซึ่งมีร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากกว่า 200 ร้าน และร้านค้าปลีกที่มีขนาดเล็กมากกว่า 1,700 ร้าน ในขณะที่ CPALL เป็นผู้บริหารเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและยังถือหุ้นในผู้นำในธุรกิจค้าส่งซึ่งได้แก่ร้าน Makro ด้วย

  • ผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อยอดขาย: การระบาดของเชื้อไวรัสน่าจะทำให้ยอดขายรวมของ CPALL ลดลงประมาณร้อยละ 4 ในปี 2563 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่ CPALL มียอดขายลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในครึ่งปีแรกของปี 2563 ยอดขายต่อร้านเดิม (Same Store Sales) ของร้าน 7-Eleven ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการปิดเมืองและการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 รวมถึงการเดินทางที่ลดลงของนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 อย่างไรก็ตาม ยอดขายของร้าน Makro ได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า เนื่องจากความต้องการซื้ออาหารสดที่ค่อนข้างคงที่ และยอดขายจากการให้บริการแบบ Omni Channel ที่เพิ่มขึ้น
  • การฟื้นตัวของรายได้: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ CPALL จะเติบโตในอัตราร้อยละ 11-12 ในปี 2564 และร้อยละ 9-10 ในปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของรายได้ทั้งจากร้าน 7-Eleven และ Makro การฟื้นตัวของยอดขายของร้าน 7-Eleven น่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดร้านใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าฟิทช์จะคาดว่ายอดขายเฉลี่ยต่อร้านน่าจะใช้เวลาในการฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการเกิดระบาดของเชื้อไวรัสหลังปี 2565 ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน การฟื้นตัวของจำนวนลูกค้าที่เข้าร้านยังคงเป็นไปอย่างค่อนข้างช้า เนื่องจากวิถีชีวิตแบบ New Normal เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การทำงานที่บ้าน ข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่น่าจะยืดเยื้อ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ หลังจากการเกิดการระบาดของเชื้อไวรัส ส่วนอัตราการเจริญเติบโตของยอดขายของ Makro ในปี 2564 น่าจะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลกับลูกค้ากลุ่ม กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง (HORECA)
  • อัตราส่วนกำไรยังคงมีแรงกดดัน: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อยอดขาย (EBITDA Margin) ของ CPALL จะลดลงมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 9 ในปี 2563 และปรับตัวเพิ่มขึ้น ในปี 2564-2565 แต่น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 เล็กน้อย (ในปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 10) CPALL เผชิญกับแรงกดดันบนอัตราส่วนกำไรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปิดร้าน 7-Eleven สาขาใหม่ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากรสูงขึ้น นอกจากนี้ สาขาในต่างประเทศของ Makro ยังมีอัตรากำไรอยู่ในระดับต่ำในช่วงแรกของการเปิดดำเนินการ

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสที่มีต่อยอดขาย ยังส่งผลให้อัตราส่วนกำไรลดลง เนื่องจากสัดส่วนของค่าใช้จ่ายคงที่ในระดับประมาณร้อยละ 60 แม้ว่าการดำเนินนโยบายควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม EBITDAR Margin ของ CPALL น่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากการฟื้นตัวของยอดขาย และจากกำไรขั้นต้นที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากการบริหารสัดส่วนของสินค้าที่จำหน่ายในร้าน (Product Mix) รวมถึงความสามารถในการสร้างรายได้และประสิทธิภาพของสาขาที่เพิ่มขึ้น

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

CPALL มีสถานะทางการตลาดในประเทศไทยที่แข็งแกร่งด้วยเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจอื่นๆ เช่น บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) (A+(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม CPALL มีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งกว่า ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่าคู่แข่งรายใหญ่อันดับสองเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ CPALL ยังมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดวัฏจักรของธุรกิจ เนื่องจาก CPALL จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน ในขณะที่กระแสเงินสดของ SCC ต้องเผชิญกับความต้องการสินค้าที่มีลักษณะเป็นวัฏจักรและความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม SCC มีอันดับเครดิตสูงกว่า CPALL หนึ่งอันดับ เนื่องจากมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่าเป็นอย่างมาก

CPALL มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกันกับ บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) (A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าของ CPALL ได้รับการชดเชยจากการมีสถานะผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกประเภทอาหารในประเทศไทย

อันดับเครดิตของ CPALL อยู่ในระดับเดียวกับสถานะเครดิตโดยลำพังของ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่อันดับสองของประเทศ GPSC มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้มากกว่า CPALL เนื่องจากมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งช่วยป้องกันบริษัทฯ จากความเสี่ยงด้านปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของ CPALL รวมถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานส่วนใหญ่ที่มาจากความต้องการที่สม่ำเสมอของสินค้าที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจาวัน ทำให้ชดเชยการที่รายได้ของ CPALL ไม่มีสัญญาระยะยาวมารองรับ ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินของทั้งสองบริษัทอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้ลดลงประมาณร้อยละ 4 ในปี 2563 และมีการเติบโตในอัตราร้อยละ 11-12 ต่อปี ในปี 2564 และร้อยละ 9-10 ต่อปีในปี 2565
  • EBITDA Margin ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 9 ในปี 2563 และปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 9.7-9.8ในปี 2564-2565
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจานวน 1.8 หมื่นล้านบาท- 2.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2563-2565 ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในต่างประเทศของ Makro ด้วย
  • การลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 40 ในเทสโก้ เอเชียเป็นจำนวนเงิน 8.6 หมื่นล้านบาท (รับรู้แบบวิธีส่วนได้เสีย หรือ Equity Method) โดยเงินลงทุนดังกล่าวมีแหล่งที่มาจากเงินกู้ทั้งจำนวน และไม่มีเงินปันผลจ่ายจากเทสโก้ ประเทศไทยในปี 2563-2565

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

  • FFO adjusted net leverage อยู่ในระดับต่ากว่า 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ:

  • FFO adjusted net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 4.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • EBITDA Margin ที่ลดลงต่ากว่าร้อยละ 7.5 อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของ CPALL มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากเงินสดในมือจำนวน 3.0 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2563 และความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง รวมถึงความสามารถในการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้ CPALL มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยประมาณ 1.8 แสนล้านบาท (รวมหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนจำนวน 2 หมื่นล้านบาท) ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2563 โดยประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาทจะครบกำหนดชำระคืนใน 12 เดือนข้างหน้า นับจากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 CPALL ได้ออกหุ้นกู้จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้จะนำไปชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในไตรมาสที่สี่ ปี 2563 และไตรมาสแรกปี 2564 ประมาณร้อยละ 87 ของหนี้สินทั้งหมดของ CPALL เป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาท โดยร้อยละ 43 ของจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้มีหลักประกันเป็นหุ้นของ บมจ. สยามแมคโคร (MAKRO) A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)

รายการอันดับเครดิตทั้งหมดของ CPALL มีดังนี้

  • คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ที่ ?A(tha)? แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ ?F1(tha)?
  • คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้มีประกันของบริษัทฯ ที่ ?A(tha)?
  • คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัทฯ ที่ ?A(tha)?
  • คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทฯ ที่ ?BBB+(tha)?

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ