บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) รายงานว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เริ่มมีนโยบายผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้ชาวต่างชาติกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวที่มาพำนักในไทยในระยะยาว สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยมาตรการดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น
AOT ในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยาน 6 แห่งในประเทศไทย คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับนักเดินทางที่จะเพิ่มมากขึ้น ตามมาตรการผ่อนคลายการเดินทางของรัฐบาล โดยจากจำนวนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศในปัจจุบันประมาณ 1,000 - 2,000 คน จะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น AOT จะต้องให้ความร่วมมือกับ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดเตรียมพื้นที่ และเครื่องมือในการตรวจคัดกรองผู้เดินทางให้พร้อมเทียบเท่ากับสนามบินชั้นนำในภูมิภาค เช่น สนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ที่กำลังเร่งพัฒนาการตรวจคัดกรองนักเดินทางให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 10,000 คนต่อวัน
ดังนั้น AOT จะต้องเร่งจัดให้มีพื้นที่และเครื่องมือในการตรวจคัดกรองผู้โดยสาร เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการเดินทางเข้าประเทศในแต่ละระยะตามนโยบายรัฐบาล ควบคู่กับการคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไทยทั้งประเทศเป็นสำคัญ ด้วยกระบวนการ รับรองผู้โดยสารที่รัดกุม ไม่ให้มีจุดบกพร่องในกระบวนการตรวจคัดกรอง และการนำส่งผู้โดยสารเข้ากระบวนการกักตัว ทั้งในส่วนของภาครัฐ และโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine : ASQ)
นอกจากนี้ AOT จะเปลี่ยนวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสในการซ่อมบำรุง Runway และ Taxiway ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 700,000 ตารางเมตร และถูกใช้งานอย่างหนักตลอดกว่า 10 ปี ปัจจุบันมีปัญหาความเสียหายของผิวทางในหลาย ๆ พื้นที่ อันเนื่องมาจากปัญหาระดับน้ำใต้ดิน และการใช้งานอย่างหนักดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา การซ่อมบำรุงผิวทางเหล่านี้ ทำได้ยากมาก เนื่องจาก ทสภ.เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ดังนั้น ในช่วงปีนี้ถึงกลางปี 2564 ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบให้จำนวนเที่ยวบินมีระดับไม่ถึงร้อยละ 30 ของขีดความสามารถการรองรับเที่ยวบินทั้งหมด จึงเป็นโอกาสอันดีของ AOT ในการบริหารจัดการตารางเที่ยวบินที่ว่างอยู่ โดยประสานงานกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในการปิดผิวทาง Runway และ Taxiway บางส่วน เพื่อซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการ ประมาณ 4,700 ล้านบาท ซึ่ง AOT จะเร่งดำเนินการสำรวจ และปิดซ่อมแซมปรับปรุงพื้นที่รองรับผู้โดยสารต่าง ๆ ทั้งในส่วน Runway และ Taxiway รวมทั้งภายในอาคารผู้โดยสารให้แล้วเสร็จก่อนหมดภาวะโควิด-19 เพื่อให้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถกลับมารองรับการเดินทางของผู้โดยสารได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 หรือ SAT-1 โดยภาพรวมขณะนี้ได้ดำเนินงานแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 95 คงเหลืองานตกแต่งภายใน และติดตั้งระบบต่างๆ เช่น สายพานลำเลียงกระเป๋า และรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หลังจากนั้น จะเป็นการทดสอบการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการ (Operation Readiness and Airport Transfer : ORAT) โดยคาดว่าจะทำการทดสอบระบบการปฏิบัติงานต่าง ๆ ร่วมกันแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565
สำหรับภาพรวมโครงการพัฒนา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 มีความล่าช้า มีสาเหตุจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนแรงงานลดลง ไม่สามารถนำเข้าวัสดุ / อุปกรณ์ที่ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในโครงการได้ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศไม่สามารถเดินทางมาให้คำปรึกษาในการดำเนินการติดตั้ง และทดสอบการทำงานร่วมกันของระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต AOT จะเร่งรัดการดำเนินงาน ไม่ให้ล่าช้าไปกว่าแผนการดำเนินการในปัจจุบัน เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะกลับมาอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งในปี 2565
นอกจากนี้ AOT จะเร่งกำกับการก่อสร้าง Runway 3 ให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2566 ตามกำหนดเวลา รวมทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติตามมาตรการในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระหว่างการก่อสร้าง และเยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงด้วยการเร่งดำเนินการจ่ายเงินชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้แล้วเสร็จโดยเร็ว