นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.จะต้องเร่งแผนการขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ที่ 90 ล้านคน/ปี โดยเร่งรัดการดำเนินงานพัฒนาอาคารผู้โดยสาร ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 30 ล้านคน/ปี เพื่อให้สอดคล้องกับขีดความสามารถของรันเวย์ที่เพิ่มขึ้น และรองรับการให้บริการ ด้วยการบริหารจัดการทำอากาศยานตามมาตรการสาธารณสุขในการเตรียมพื้นที่รองรับการทางสังคม (Social Distancing) ที่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่สำหรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ทอท.จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม เหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาอาคารผู้โดยสาร ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ทั้งแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม และการให้บริการตามมาตรการโควิด-19 นำเสนอต่อคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ทบทวนมติ ให้ความเห็นชอบในการดำเนินการ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป ขณะที่ทอท.มีความพร้อมในการลงทุน
"ทอท.จะต้องรวบรวมข้อมูล เหตุผลความจำเป็นเสนอไปสศช.เพิ่มเติม ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะพัฒนาอาคาร North Expansion นี้ให้เสร็จพร้อมกับรันเวย์ 3 หรือในปี 2566 และทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคน/ปี ทั้งในพื้นที่อาคาร และรันเวย์"รมว.คมนาคม กล่าว
ส่วนการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 หรือ SAT-1 ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ 95% โดยเหลือการตกแต่งภายใน และติดตั้งระบบต่างๆ เช่น สายพานลำเลียงกระเป๋า และรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ซึ่งขณะนี้รับมอบรถแล้ว 4 ขบวนเหลืออีก 2 ขบวนจะรับมอบภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ และเริ่มทดสอบเสมือนจริงในเดือนก.พ. 2564
ขณะที่จะมีการทดสอบการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการ (Operation Readiness and Airport Transfer : ORAT) ของอาคาร SAT-1 ระบบการปฏิบัติงานต่าง ๆ จะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย. 2565 และเปิดให้บริการ ในปี 2565 ซึ่งมีความล่าช้าจากแผนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ขาดแรงงาน และไม่สามารถนำข้าวัสดุ / อุปกรณ์ที่ผลิตจากต่างประเทศรวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศไม่สมารถเดินทางมาให้คำปรึกษาในการดำเนินการติดตั้ง และทดสอบการทำงานร่วมกัน
โดยการพัฒนาสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ล่าสุดใช้งบประมาณจำนวน 49,000 ล้านบาท ซึ่งประหยัดจากกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งอาคาร SAT-1 จะรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี เพิ่มขีดความสามารถรวมเป็น 60 ล้านคน/ปี
สำหรับโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3 ) ซึ่งมีบมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) จอยต์เวนเจอร์กับบริษัท ถนอมวงศ์บริการ จำกัด เป็นผู้รับจ้างวงเงินประมาณ 9,600 ล้านบาท ได้เริ่มก่อสร้างแล้วประมาณ 1 เดือน ตามแผนงานจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2566 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน ได้เป็น 900 เที่ยวบิน/วัน หรือรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคน/ปี
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า การก่อสร้างอาคาร North Expansion วงเงินลงทุน 42,000 ล้านบาท จะเป็นตัวหลักสำคัญในการรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการบริหารจัดการสนามบิน ตามมาตรการสาธารณสุข โดยต้องมีการเตรียมพื้นที่รองรับการทางสังคม (Social Distancing) เนื่องจาก หลังเกิดโควิด-19 คาดว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะออกมาตรการ วิถีใหม่การเดินทาง (Transport New Normal)
ซึ่งอาคาร North Expansion ที่จะมีพื้นที่ เพิ่มอีก 170,000 เมตร และพื้นที่ส่วนอาคารเทียบเครื่องบิน (Airside) อีก 125,000 ตารางเมตร มีพื้นที่เพิ่มสำหรับตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และช่องตรวจค้นผู้โดยสาร รวมทั้งหลุมจอดประชิดอาคารอีก 14 หลุม จะรองรับการเดินทางของผู้โดยสารได้อย่างสะดวกและปลอดภัยเมื่อเปรียบเทียบกับการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันออก (East Expansion) ซึ่งจะเพิ่มเพียงพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 66,000 ตารางเมตร ไม่พียงพอต่อ การรองรับผู้โดยสารแบบ New Normal ซึ่งหากเริ่มดำเนินการในต้นปี 2564 จะแล้วเสร็จในปี 2567 ทันต่อสถานการณ์ในการรองรับผู้โดยสารที่จะกลับสู่การเดินทางอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
นายนิตินัยกล่าวว่า ในปี 2564 คาดว่าผู้โดยสารระหว่างประเทศ จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวระยะยาว ของรัฐบาล โดยปัจจุบันผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีประมาณ 700 คน/วัน จากที่มี 2 แสนคน/วัน และประเมินว่า ทั้งปี 2564 จะเพิ่มได้สูงสุดประมาณ 2,000 คน/วัน แม้รัฐบาลไทยจะผ่อนคลายมาตรการเดินทางของนักท่องเที่ยว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของต่างประเทศยังไม่ลดลง และคาดว่าในปี 63/64 ผลประกอบการจะไม่ดี ขณะที่ปี 62/63 ทอท.มีกำไร เนื่องจากมีรายได้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีก่อนเกิดโรคโควิด-19 มาช่วย แต่ปี 63/64 จะเป็นปีที่หนักที่สุด ของทอท.