บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ไทยวา (TWPC) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันของบริษัทในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง รวมถึงการให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารตลอดจนนโยบายทางการเงินของผู้บริหารที่ค่อนข้างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนบางส่วนจากธรรมชาติที่เป็นวงจรขึ้นลงของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่นราคาแป้งมันสำปะหลังที่ผันผวน รวมถึงอุปทานของหัวมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแป้งมันสำปะหลังด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความท้าทายในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง
อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังในประเทศไทยส่วนใหญ่เน้นไปที่ตลาดส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน อินโดนีเซีย และไต้หวัน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ส่งผลทำให้อุปสงค์แป้งมันสำปะหลังทั่วโลกลดลงอย่างมาก ลูกค้าตลาดส่งออกหลักของบริษัทมีการชะลอคำสั่งซื้อออกไปจากช่วงครึ่งปีแรกไปเป็นครึ่งปีหลังของปี 2563 ซึ่งส่งผลทำให้ยอดขายรวมของแป้งมันสำปะหลังของบริษัทลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมาอยู่ที่ 155 พันล้านตัน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายรวมจะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2563
ความสามารถในการทำกำไรลดลง
ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2562 ต่ำกว่าประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยราคาขายแป้งมันสำปะหลังดิบที่ลดลงอันเนื่องมาจากผลผลิตหัวมันสำปะหลังในประเทศไทยและเวียดนามที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลง อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 16.2% ในปี 2562 จาก 16.3% ในปี 2561 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งซึ่งอยู่ที่ระดับ 17.6% ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.4% ในปี 2562 จาก 8.1% ในปี 2561 และต่ำกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งซึ่งอยู่ที่ระดับ 9.3%
อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 9.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับระดับ 7.9% ในช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจอาหารจากการที่ผู้บริโภคมีการกักตุนอาหารในช่วงที่มีการปิดประเทศเมืองเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลง 8% ในปี 2563 หลังจากนั้นจะเติบโต 8% ในปี 2564 และ 5% ในปี 2565 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงเหลือ 6% สำหรับปี 2563 ทั้งปี และหลังจากนั้นจะกลับขึ้นมาสู่ระดับ 8%-9% ในช่วงปี 2564-2565
การให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง
บริษัทมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-added -- HVA) เข้ามาในสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้นและยังได้ขยายบทบาทไปในตลาดโลกด้วย บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นของแป้งมันสำปะหลังดิบอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 20% ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอยู่ที่ระดับ 10%-25% แต่ในปี 2562 บริษัทมีรายได้จากผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังดิบคิดเป็น 47% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงคิดเป็น 33% และรายได้จากผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (ธุรกิจอาหาร) คิดเป็น 20% อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 24% ตามความต้องการที่ดีขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
ในอนาคตข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงและอาหารให้เป็น 55% ของรายได้รวมและจะลดสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังดิบลงให้เหลือเพียง 45%
แม้ภาระหนี้ทางการเงินจะปรับตัวสูงขึ้น แต่โครงสร้างเงินทุนยังคงดีอยู่
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10.7% ณ เดือนธันวาคม 2562 และเป็น 16.7% ณ เดือนมิถุนายน 2563 จากที่เคยมีสถานะปลอดหนี้ ณ สิ้นปี 2561 ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีการซื้อกิจการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังในประเทศไทยและเวียดนาม รวมถึงความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนของบริษัทที่เพิ่มขึ้นด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 300-450 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงประจำปีและขยายสายการผลิตของผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง
ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 9%-14% ในช่วงปี 2563-2565 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายน่าจะคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจระหว่าง 6-10 เท่าในระหว่างปี 2563-2565
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า จากสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 450-700 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565 โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 707 ล้านบาท และยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่อีกจำนวน 1.1 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระอยู่ระหว่าง 60 ล้านบาทถึง 1.1 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
รายได้รวมจะลดลง 8% ในปี 2563 และจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 8% ในปี 2564 และ 5% ในปี 2565
อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับ 16%-18% และ 6%-9% ตามลำดับ ในปี 2563-2565
ค่าใช้จ่ายลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 300-450 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจแป้งมันสำปะหลังและวุ้นเส้นในประเทศไทยเอาไว้ได้ โดยที่รายได้จากผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาแป้งมันสำปะหลังดิบที่จะมีต่ออัตรากำไรของบริษัทได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดในขณะที่ยังคงงบดุลที่แข็งแรง รวมถึงคงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังเอาไว้ได้
ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่าระดับ 2 เท่า ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินที่มีความเสี่ยงมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน