KEST ระบุตลาดหวังกนง.ลดอาร์พี 10 ต.ค./มองแรงกดดันแบงก์ลดดอกเบี้ยน้อยลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 29, 2007 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บทวิเคราะห์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยผิดหวังเล็กน้อยหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ตัดสินใจคงระดับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันไว้ที่ 3.25% โดยตลาดยังคงคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 10 ตุลาคมนี้ 
ก่อนหน้าฝ่ายวิจัยคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% และยังไม่พบเหตุผลว่าเหตุใดจึงต้องมีการเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เนื่องจากมองว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศ และไม่เชื่อว่าการใช้จ่ายจะกระเตื้องขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าสถานการณ์การเมืองจะมีการพัฒนาและมีการกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค. 50
นอกจากนี้ KEST ยังมีมุมมองเชิงบวกลดลงจากวิกฤตการณ์สินเชื่อบ้านมือสอง(Sub-prime)ในสหรัฐฯ เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐฯ เองก็คาดว่ามูลค่าสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์จะลดลง และปัญหาหนี้เสียจะกดดันเศรษฐกิจสหรัฐให้เข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงอีกในไตรมาส 3/50 หากภาคการส่งออกยังคงอ่อนแอดังเช่นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งอัตราการเติบโตของการส่งออกอยู่ที่เพียง 5.9% โดยเชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงและช่วยผ่อนคลายอุปสรรคในภาคส่งออก นอกจากนี้ยังช่วยภาคอุตสาหกรรมในด้านต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงด้วย
KEST ยังมองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก โดยในปีนี้ ธปท.ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันไปแล้ว 1.75% ในขณะที่ SCB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลูกค้ารายใหญ่ระยะ 1 ปีลง 2.63% แต่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเพียง 0.88% ซึ่งไม่ช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจมากนัก
คำถามหลักต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะนี้คือภาคการส่งออกจะชะลอตัวลงอีกหรือไม่ โดยถ้าภาคส่งออกยังคงเติบโตในระดับ 16-18% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก็คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะสามารถเติบโตได้ในกรอบบนของระดับคาดการณ์คือ 4.5%
อย่างไรก็ตาม ถ้าอัตราการเติบโตของภาคส่งออกชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 12% ซึ่งเป็นระดับที่เราคาดการณ์ในขณะนี้ ก็คาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะอยู่ที่ 4% โดยจะมีข้อมูลประกอบการคาดการณ์มากขึ้นหลังจากที่ธปท.ได้ประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจประจำเดือนก.ค.วันศุกร์นี้และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาส 2/50 ในวันจันทร์ที่ 3 ก.ย.นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ