ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) ที่ระดับ "BBB" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้และแข็งแกร่งซึ่งบริษัทได้รับจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานการไฟฟ้าภาครัฐ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้าของบริษัทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากความไม่แน่นอนของปริมาณและความผันผวนของราคาวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลที่ใช้ป้อนโรงไฟฟ้า ตลอดจนสภาวะแวดล้อมที่มีความท้าทายของธุรกิจผลิตไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตของบริษัทยังขึ้นอยู่กับสถานะเครดิตของ บมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) ซึ่งเป็นบริษัทแม่อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้
อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าของบริษัทอันเนื่องมาจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวและผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการแล้วจำนวน 7 แห่ง โดย 6 แห่งนั้นมีบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ กำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วอยู่ที่ 73.8 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทุกแห่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งได้รับการจัดอันดับที่ระดับ "AAA" จากทริสเรทติ้ง ดังนั้น ความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าจึงอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าดังกล่าวยังมีการระบุราคาซื้อขายไว้อย่างชัดเจนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) เป็นส่วนใหญ่และมีส่วนต่างหรือค่าพรีเมียมในช่วง 8 ปีแรกซึ่งช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่โครงการดังกล่าวอีกด้วย
บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอีกจำนวน 32.7 เมกะวัตต์โดยโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่รอดำเนินการตามแผนซึ่งประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง (24.7 เมกะวัตต์) และโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ 1 แห่ง (8 เมกะวัตต์) ซึ่งบางโครงการประสบปัญหาการก่อสร้างล่าช้าจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) แต่งบลงทุนยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม โครงการเหล่านี้มีแผนจะเปิดดำเนินการภายในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 106.5 เมกะวัตต์
ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้ามีความแข็งแกร่ง
โรงไฟฟ้าของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่สูงเกินกว่า 80% ของกำลังการผลิตสูงสุดซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูง ส่งผลให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าของบริษัททรงตัวอยู่ที่ระดับสูงในช่วง 48%-50%
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยนอกเหนือจากกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ภายใต้แผนของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตใหม่อีกจำนวน 9 เมกะวัตต์ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 115.5 เมกะวัตต์ในปี 2565 ในการนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 3.15 พันล้านบาทในปี 2565 จากประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2563
ความไม่แน่นอนของปริมาณและความผันผวนในด้านราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิง
บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดแคลนและความผันผวนด้านราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิง โดยวัตถุดิบเชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นได้มาจากเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้ง เช่น ไม้สับ แกลบ กะลามะพร้าว และพืชอื่น ๆ ที่เติบโตเร็ว ความเพียงพอของปริมาณวัตถุดิบเชื้อเพลิงนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ฤดูกาล การใช้ชีวมวลในอุตสาหกรรมอื่น และการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าชีวมวล ผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่ไม่มีวัสดุเหลือทิ้งจากไร่นาเป็นของตนเองจำเป็นจะต้องแย่งชิงวัตถุดิบเชื้อเพลิงกับผู้ประกอบการรายอื่น นอกจากนี้ ราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลนั้นยังเคลื่อนไหวขึ้นและลงได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังแปรเปลี่ยนไปตามความชื้นและค่าความร้อนอีกด้วย
บริษัทได้จัดจ้างผู้รับเหมาเพื่อให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัท โดยในบางโครงการผู้รับเหมาจะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการวัตถุดิบเชื้อเพลิงและรับความเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบ บริษัทจำเป็นจะต้องเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของตนตั้งแต่การจัดหา การขนส่ง และการจัดเก็บวัตถุดิบเชื้อเพลิงตามการขยายธุรกิจ โดยบริษัทวางแผนจะจัดจ้างผู้รับเหมาเพื่อให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ของบริษัทแต่บริษัทจะบริหารจัดการวัตถุดิบเชื้อเพลิงเอง ซึ่งในกรณีนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงด้านวัตถุดิบเชื้อเพลิงแก่บริษัทได้ เนื่องจากบริษัทไม่มีวัสดุเหลือทิ้งจากไร่นาเป็นของตนเอง
บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายวัตถุดิบเชื้อเพลิงระยะยาวกับผู้จำหน่ายท้องถิ่นเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเชื้อเพลิงที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญายังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย บริษัทจึงลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงของตนเองอีกด้วย
สภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่มีความท้าทาย
ในความเห็นของทริสเรทติ้งนั้น การลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ลดลงและการประมูลแข่งขันที่รุนแรง นอกจากนั้น การแก้ไขแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP ยังคงใช้เวลารอการอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายที่ยาวนาน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าของเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่รัฐบาลส่งเสริมให้บริษัทเอกชนร่วมลงทุนกับชุมชนท้องถิ่นในชนบทเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอันประกอบไปด้วยชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และอื่น ๆ และน่าจะทำให้การเปิดประมูลโครงการเกิดความล่าช้าแม้ภาครัฐจะสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนก็ตาม
ทั้งนี้ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับสูงและความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ในปัจจุบันถือเป็นปัจจัยด้านลบต่อการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในภาวะที่เป็นไปได้ยากที่จะเกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ นี้ แนวโน้มที่น่าจับตามองต่อไปคือการควบรวมกิจการหรือการขายกิจการโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะลดลงจากระดับปัจจุบันเนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่มีราคาจำหน่ายไฟฟ้าที่ถูกลง โดยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่ ๆ อยู่ภายใต้ระบบการประมูลแข่งขันซึ่งทำให้ได้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าที่ต่ำลงมากโดยอยู่ระหว่าง 2.8-3.4 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในขณะที่โรงไฟฟ้าในปัจจุบันของบริษัทมีราคาจำหน่ายไฟฟ้าสูงกว่า 4 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นจะต้องเพิ่มความรัดกุมในการควบคุมต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม โครงการใหม่ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น ซึ่งจะเร่งให้เกิดการประหยัดจากขนาดและช่วยลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขาย
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 40% ในช่วงปี 2563-2565 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังที่ระดับ 45.6% ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 1.26 พันล้านบาทในปี 2565 จาก 880 ล้านบาทในปี 2563 และเงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2565 จาก 720 ล้านบาทในปี 2563
การก่อหนี้จะทรงตัวเท่ากับระดับในปัจจุบัน
บริษัทให้การค้ำประกันหนี้ของกิจการร่วมค้าตามสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการร่วมค้านั้น ๆ ดังนั้น ในการพิจารณาสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น ทริสเรทติ้งจึงรวมเอาสินทรัพย์ หนี้สิน และผลการดำเนินงานของกิจการร่วมค้าเข้ามารวมกับงบการเงินรวมของบริษัทตามสัดส่วนที่บริษัทถือหุ้นในกิจการร่วมค้าแต่ละแห่งด้วย
การก่อหนี้ของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับเท่ากับในปัจจุบัน โดยทริสเรทติ้งไม่คิดว่าบริษัทจะขยายธุรกิจจนมากเกินไป อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ในแผนทุกโครงการนั้นก็น่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ตามที่วางแผนไว้ ซึ่งกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วจะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัท
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1-2 พันล้านบาทต่อปีสำหรับโครงการใหม่ ๆ ในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัททรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 50% เมื่อเทียบกับ 51.3% ณ เดือนมิถุนายน 2563 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินคาดว่าจะอยู่ในช่วง 17%-23% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 4-5 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า
สภาพคล่องสามารถจัดการได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทมีหนี้ค่อนข้างต่ำและไม่มีประเด็นในเรื่องการใช้เงินทุนที่ไม่สอดคล้องในด้านระยะเวลา ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 822 ล้านบาท โดยทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 845 ล้านบาทซึ่งเพียงพอต่อการชำระหนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้ รวมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันอีกจำนวน 295 ล้านบาทด้วย
บริษัทไม่มีข้อกำหนดทางการเงินสำหรับวงเงินกู้ที่มีกับธนาคาร แต่บริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1.1 เท่าหรือ 1.2 เท่าและต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ไม่เกิน 1.2 เท่า 1.5 เท่า หรือ 2.5 เท่า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวตลอดช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้าได้เช่นกัน
อันดับเครดิตถูกกำหนดโดยสถานะของกลุ่ม
ตามเงื่อนไขของ "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม" (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตของบริษัทจะจำกัดอยู่ที่ระดับ "BBB" ซึ่งเป็นอันดับเครดิตองค์กรที่ทริสเรทติ้งจัดให้แก่บริษัทไทยโพลีคอนส์หรือกลุ่ม โดยบริษัทไทยโพลีคอนส์ถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 41% ในบริษัทและมีอำนาจควบคุมนโยบายทางธุรกิจและการเงินของบริษัทโดยตรง สิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างบริษัททั้งสอง
ผลกำไรเกือบทั้งหมดของบริษัทไทยโพลีคอนส์มาจากกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัท โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทนั้นช่วยลดความผันผวนและความอ่อนไหวของธุรกิจก่อสร้างของบริษัทไทยโพลีคอนส์ได้เป็นอย่างมาก ด้วยความสำคัญของบริษัทดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงมองว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทไทยโพลีคอนส์
สมมติฐานพื้นฐาน (ปี 2563-2565)
กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 115.5 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ประมาณ 40%
เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 1-2 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อไปและสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากได้อย่างที่วางแผนไว้ ในขณะเดียวกัน บริษัทจะยังมีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทไทยโพลีคอนส์เช่นเดิม ซึ่งภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทย่อยนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีต่ออันดับเครดิตองค์กรของบริษัทไทยโพลีคอนส์ก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตองค์กรของบริษัทด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและโครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่สถานะการเงินของกลุ่มบริษัท การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้หากอันดับเครดิตของบริษัทไทยโพลีคอนส์ปรับเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่ำกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งเป็นอย่างมาก หรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้จำนวนมาก นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังอาจลดลงได้หากอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทไทยโพลีคอนส์ลดต่ำลง