บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 2.50 บาท/หุ้น ระยะเวลาจองซื้อในวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2563 คาดหุ้นจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 โดยบริษัทเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 157,017,300 หุ้น แบ่งเป็น หุ้นเพิ่มทุน จำนวน 117,017,300 หุ้น และนายวิชัย วชิรพงศ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ได้เสนอขายหุ้นสามัญเดิม จำนวนไม่เกิน 40,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท โดยมีบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีบล.เคทีบี (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นในครั้งนี้ การเสนอขายหุ้น IPO มีมูลค่ารวม 392,543,250 บาท แบ่งเป็น มูลค่าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ จำนวน 292,543,250 บาท และมูลค่าการเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดยนายวิชัย วชิรพงศ์ จำนวน 100,000,000 บาท
การกำหนดราคาของหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ที่จะเสนอขายในครั้งนี้ที่ราคา 2.50 บาทต่อหุ้น กระทำโดยการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) ซึ่งเป็นวิธีการสำรวจปริมาณความต้องการซื้อหุ้นสามัญของนักลงทุนสถาบันในแต่ละระดับราคา โดยการตั้งช่วงราคา (Price Range) และเปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันแจ้งราคาและจำนวนหุ้นที่ประสงค์จะจองซื้อมายังผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ทั้งนี้ บริษัทฯ และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายได้พิจารณาในการกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย โดยพิจารณาจากราคาและจำนวนหุ้นที่นักลงทุนสถาบันเสนอความต้องการซื้อเข้ามา โดยคำนึงถึงราคาที่จะทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการ และยังมีความต้องการซื้อหุ้นเหลืออยู่มากพอในระดับที่คาดว่าจะทำให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพในตลาดรอง
การเสนอขายหุ้นสามัญโดยบริษัทในครั้งนี้ได้กำหนดราคาเสนอขายเท่ากับ 2.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 22.95 เท่า โดยคำนวณจากกำไรสุทธิ 4 ไตรมาสย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งเท่ากับ 96.72 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วก่อนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (Pre Diluted) จำนวน 887,982,700 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.11 บาทต่อหุ้น
วัตถุประสงค์การใช้เงิน เพื่อใช้ในโครงการเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าของ VDP ในต่างจังหวัด ใช้เงินประมาณ 8.00 ล้าบาท ในช่วงปี 2564-2565 โดยบริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด (VDP) มีแผนที่จะเพิ่มการให้บริการตู้ขายสินค้าอัตโนมัติไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลในประเทศไทย เพื่อการให้บริการที่กว้างขวางมากขึ้น VDP จำเป็นที่จะต้องเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าหรือตัวแทนบริการในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งศูนย์กระจายสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะใช้สำหรับการโหลดสต็อกสินค้าขาย การเก็บอุปกรณ์และอะไหล่ของตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ รวมถึงเพื่อรองรับที่จอดรถสำหรับพนักงานรูทแมน คาดว่า VDP จะเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าในปี 2564 จำนวน 2 แห่ง และในปี 2565 อีกจำนวน 2 แห่ง
โครงการเพิ่มการตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ รวมถึงการตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจของ VDP จะใช้เงินประมาณ 116.62 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดย VDP มีแผนที่จะตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการติดตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางขึ้น อีกทั้งมีแผนที่จะตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งตั้งเป้าหมายมีจำนวนตู้ขายสินค้าอัตโนมัติรวมทั้งสิ้น 12,200 ตู้ภายในปี 2564 (จากจำนวนตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ จำนวน 5,782 ตู้ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2563) คิดเป็นเงินลงทุนรวมไม่เกิน 655 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ รวมกันกับการใช้กระแสเงินสดภายในกิจการ และการจัดหาเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
โครงการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตู้เติมเงินและตู้ขายสินค้าอัตโนมัติของกลุ่มบริษัทฯ ใช้เงินประมาณ 35 ล้านบาท ภายในปี 2564 บริษัทฯ และ VDP วางแผนที่จะติดตั้งเครื่องรับบัตร (Smart Card Reader) ให้กับตู้เติมเงินและตู้ขายสินค้าอัตโนมัติให้ได้ 10,000 เครื่องภายในปี 2566 (ณ ปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ ยังไม่มีการติดตั้งเครื่องรับบัตร) ซึ่งเป็นการติดตั้งบนตู้เติมเงินที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตู้ และตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในสัดส่วนประมาณ 6,000 ตู้ และ 4,000 ตู้ ตามลำดับ เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับชำระเงินทั้งในรูปแบบของการชำระเงินโดยใช้บัตร (Card based) และการชำระเงินโดยไม่ใช้บัตร (Non-Card based)
โครงการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Service) ใช้เงินประมาณ 40 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1/64 บริษัท สบายมันนี่ จำกัด (SBM) มีแผนที่จะเป็นผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Money หรือ e-Money) ในรูปแบบของบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ และรูปแบบของเงินอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Electronic Wallet หรือ e-Wallet) ซึ่ง SBM จะต้องดำเนินการลงทุนในการพัฒนาระบบแอปพลิเคชั่นเพิ่มเติม และดำเนินการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ SBM ได้รับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ e-Money จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้ว ในเดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา
โครงการให้บริการระบบการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Payment Platform Provider) ใช้เงินประมาณ 55 ล้าบาท ภายในไตรมาส 1/64 SBM มีแผนที่จะเป็นผู้ให้บริการระบบการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะสามารถรองรับการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งของ SBM และของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ตลอดจนการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตตามที่ SBM กำหนด ให้แก่เจ้าของศูนย์อาหาร สหกรณ์ และ/หรือเจ้าของร้านค้าที่มีความสนใจใช้ระบบการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
โครงการให้บริการระบบบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์แก่ศูนย์อาหาร และ/หรือร้านค้า ในวงจำกัด (Closed Loop) ใช้เงินประมาณ 20 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1/64 โดย SBM มีแผนที่จะเป็นผู้ให้บริการระบบบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์แก่ศูนย์อาหารและ/หรือร้านค้าที่มีความสนใจใช้ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบบัตร