นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RTACH) เปิดเผยว่า การออกและจำหน่ายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือตราสารหนี้สีเขียว (green bond) มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท ปรากฎว่ามีผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ทั้งกลุ่มประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กองทุนภาครัฐ สหกรณ์และสถาบันการเงินอื่น ๆ ให้ความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง โดยมียอดแสดงความจำนงลงทุนรวมกว่า 9 เท่าของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดที่เสนอขาย และมีผู้ลงทุนแสดงความจำนงลงทุนในบางรุ่นอายุเกินกว่า 13 เท่าของมูลค่าที่เสนอขาย สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจสีเขียวของบริษัท
สำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว เป็นชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท เพื่อการลงทุน ชำระคืนหนี้เดิมและ/หรือเงินทุนบางส่วน หรือทั้งหมดของโครงการใหม่ หรือโครงการเดิมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในออสเตรเลีย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง โดยจะจำหน่ายเฉพาะเจาะจงให้กับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ในวันที่ 4 พ.ย.63 แบ่งออกเป็น 4 รุ่น (Tranche) อายุเฉลี่ยหุ้นกู้ประมาณ 11 ปี ได้แก่
1) หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.32% ต่อปี จำนวน 1,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566
2) หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.76% ต่อปี จำนวน 1,500 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 4 พฤศจิกายน 2568
3) หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.61% ต่อปีจำนวน 1,500 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 4 พฤศจิกายน 2573
4) หุ้นกู้อายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.94% ต่อปีจำนวน 4,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 4 พฤศจิกายน 2578
บริษัทจะชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้ทั้งจำนวนในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง ได้จัดอันดับเครดิตองค์กรและเรทติ้งหุ้นกู้ของบริษัทฯ ที่ระดับ "AAA" แนวโน้ม "คงที่" ณ วันที่ 1 ต.ค.63
นายกิจจา กล่าวว่า การออกและจำหน่ายหุ้นกู้สีเขียวครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จของแผนการจัดหาเงินทุนของบริษัท และเป็นการระดมทุนครั้งแรกของบริษัทในตลาดตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นตามทิศทางการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันจะเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกที่มีต้นทุนเอื้อต่อการพัฒนาและลงทุนโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
สำหรับเงินจำนวนประมาณ 1,400 ล้านบาท จากการระดมทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ซึ่งมีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 65 และเงินอีกจำนวนประมาณ 6,600 ล้านบาท จะนำไปใช้ในโครงการพลังงานลมในออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันมี 2 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โครงการยานดิน ซึ่งบริษัทถือหุ้น 70% มีกำลังการผลิต 214.2 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน และโครงการคอลเล็คเตอร์ กำลังการผลิต 226.8 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/64
"หุ้นกู้สีเขียวเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนที่ 2,500 เมกะวัตต์ในปี 68 รวมทั้งโครงการระบบขนส่งที่สะอาด และโครงการคาร์บอนต่ำอื่น ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังสอดคล้องและช่วยตอบสนองแนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกของบริษัท ที่สำคัญจะส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินในภาพรวมในระดับที่เหมาะสมด้วย"นายกิจจา กล่าว
ทั้งนี้ การออกหุ้นกู้สีเขียวครั้งนี้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์การระดมทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Financing Framework) และได้รับรายงานการรับประกัน (Assurance Report) โดยบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด โดยบริษัทแต่งตั้งธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าว