นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) (TSTH) คาดว่ายอดขายเหล็กในงวดครึ่งหลังปี 63/64 (ต.ค.63-มี.ค.64) น่าจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก (เม.ย.-ก.ย.63) ที่มีปริมาณขาย 6.09 แสนตัน ผลักดันให้ยอดขายในงวดปี 63/64 มีปริมาณ 1.22-1.23 ล้านตัน จาก 1.20 ล้านตันในงวดปี 62/63 หรือเพิ่มขึ้น 2-3 หมื่นตัน
เนื่องจากความต้องการภายในประเทศสูงขึ้น ส่วนใหญ่มาจากโครงการภาครัฐ โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภค และในงบประมาณปี 2564 มีงบด้านขนส่งอยู่ที่ประมาณ 232 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 32% จากปีก่อน โดยมีการเพิ่มการใช้จ่ายในโครงการถนนและทางรถไฟ และรวมถึงการพัฒนาศูนย์กลางรถไฟแห่งชาติใน จ.พระนครศรีอยุธยา และการขยายเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนและทางด่วนของกรุงเทพฯที่เชื่อมต่อจังหวัดใกล้เคียงหลายแห่ง ตลอดจนโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เข้ามาลงทุน
อีกทั้งในช่วงเดือน ต.ค.63 -มี.ค.64 เป็นช่วงไฮซีซันที่มีงานก่อสร้างสูงกว่าหน้าฝน จะทำให้ความต้องการและราคาเหล็กลวดมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับการส่งออกเริ่มกลับมาดีขึ้น โดยในเดือน พ.ย.บริษัทจะเริ่มกลับมาส่งออกไปอินเดียที่เริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ รวมถึงอินโดนีเซียก็เริ่มกลับมาผ่อนคลายมาตรการเพื่อสกัดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ทำให้คาดว่ายอดส่งออกในข่วงครึ่งปีหลัง น่าจะทำได้ประมาณ 5 หมื่นตัน จากช่วงครึ่งปีแรกส่งออกได้ 2.9 หมื่นตัน ทำให้ปี 63/64 การส่งออกน่าจะอยู่ที่ 7.9 หมื่นตัน ต่ำกว่าปีก่อนที่ทำได้ 1.19 แสนตัน
ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีการชุมนุมยืดเยื้อนั้น มองว่าไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดี สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งยังคงขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนภายในประเทศเป็นหลักในระยะนี้
ด้านอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่ายังยังเผชิญกับราคาเศษเหล็กที่ขณะนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามความต้องการจากจีนที่มีอยู่มาก เพื่อใช้และผลิตภายในประเทศ อย่างไรก็ตามบริษัทก็จะพยายามรักษาไม่ให้ต่ำกว่าไตรมาส 2/63 ที่ทำได้ 5.6% โดยต้นทุนวัตถุดิบของบริษัทนับว่ามีสัดส่วนมากถึง 70% ของต้นทุนรวม
นายราจีฟ กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานเพื่อผลิตไฟฟ้า รวม 9-10 เมกะวัตต์ งบลงทุนราว 200 ล้านบาท โดยขณะนี้กำลังตัดสินใจคัดเลือกว่าจะลงทุนเอง หรือให้บริษัทอื่นเป็นผู้ลงทุน ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในช่วง 3 เดือนนี้
สำหรับการควบรวม 3 บริษัทย่อย ได้แก่ บมจ.เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป (NTS) ถือหุ้น 99.76% บจก.เหล็กสยาม (2001) (SISC) ถือหุ้น 99.99% และ บจก.เหล็กก่อสร้างสยาม (SCSC) ถือหุ้น 99.99% เพื่อเป็นบริษัทเดียวในนาม NTS และจะเปลี่ยนชื่อ NTS เป็นบมจ.ทาทา สตีลการผลิต (ประเทศไทย) (TSMT) นั้น คาดว่ากระบวนการควบรวมจะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือนม.ค.64 ทั้งนี้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น มีการบริหารที่ดีขึ้น และควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้นด้วย