นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ต.ค.63 พบว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าดัชนีอยู่ที่ระดับ 61.27 ปรับตัวลดลง 9% จากเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและการไหลเข้าออกของเงินทุน
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงความกังวลต่อการระบาดระลอกสองของโควิด-19
ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.64) อยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม อยู่ที่ระดับ 61.27
ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลงอยู่ในระดับ "ซบเซา"
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)
หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์การเมืองในประเทศ
ทั้งนี้ ผลสำรวจรายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลงมาอยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลง 2.2% อยู่ที่ระดับ 78.57 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 37.5% อยู่ที่ ระดับ 62.50 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลง 8.7%อยู่ที่ระดับ 62.50 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลง 6.7% อยู่ที่ระดับ 40.00
นายไพบูลย์ ระบุว่า ช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือน ต.ค.63 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET index) ปรับตัวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 1,247.59-1,263.99 จุด และปรับตัวลงในช่วงครึ่งเดือนหลังในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังจากความไม่คืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐ และจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศหลักๆ ในยุโรปและอเมริกากลับมาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของประเทศไทยยังโดนแรงกดดันจากความร้อนแรงของสถานการณ์การเมืองในประเทศ มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดย ณ สิ้นเดือน ต.ค.63 SET Index ปิดที่ 1,194.95 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 3.40%
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการมี รมว.คลังคนใหม่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐระดมออกมาอย่างต่อเนื่อง และการขยายระยะเวลาโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยในไตรมาสสุดท้ายของปี 63
นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและการไหลเข้าออกของเงินทุน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงความกังวลต่อการระบาดระลอกสองของโควิด-19
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ การเจรจาการค้าระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปเพื่อหาข้อตกลงก่อนที่จะจบ Transition period ในปลายปีนี้ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ความยืดเยื้อของการชุมนุมทางการเมือง และการประกาศผลประกอบการไตรมาสสามของบริษัทจดทะเบียน
ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน พ.ย.63 สะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้วว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือน พ.ย.นี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากการสำรวจเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 63 เนื่องจากการคาดการณ์ว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป แต่ต้องติดตามปัจจัยความไม่แน่นอนจากต่างประเทศในประเด็นผลการเลือกตั้งสหรัฐ BREXIT และสถานการณ์โควิดที่อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนผันผวนได้
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง.รอบเดือน พ.ย.นี้อยู่ที่ระดับ 50 เป็นระดับเดียวกับครั้งที่แล้ว และอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)" สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในรอบนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำแล้ว การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจมีผลต่อเศรษฐกิจน้อยลง โดยยังมีมาตรการด้านการเงินอื่นๆเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เช่นมาตรการช่วยเหลือ SME และ มาตรการ soft loan
ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)" โดยปรับตัวลดลงจากครั้งก่อน สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงระดับ 0.86% และ 1.41% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (26 ต.ค. 63) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก และ Fund Flow ต่างชาติ