นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/63 ทำสถิติรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิ 117 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 265.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 32 ล้านบาท
บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 605 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเครื่องปรับอากาศ ประกอบกับ ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน "รถทำเงิน" เติบโตแรง จากการขยายเครือข่ายทีมขาย รวมทั้ง การอนุมัติและติดตามที่รวดเร็ว จากการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน
ขณะที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 44.6% อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 21.8% ทำได้ในระดับที่ดีต่อเนื่อง และภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 5.1% ลดลงจากไตรมาส 2/63 และ ไตรมาส 1/63 ที่มี NPL ในระดับ 6.49% และ 8.1% ตามลำดับ สะท้อนการบริหารจัดการที่ดี และการขยายพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินซึ่งมีระดับ NPL ต่ำไม่ถึง 1%
จากความสำเร็จดังกล่าวสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-ก.ย.63) บริษัทมีกำไรสุทธิ 319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 157.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 124 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,889 ล้านบาท
"SINGER สามารถเติบโตได้ตามแผนงานที่วางไว้ และไม่กระทบสถานการณ์โควิด-19 รวมถึง ภาพรวมสถานการณ์ในประเทศ เนื่องจากเรามีพลังทีมขายที่แข็งแกร่งทั่วไทย ไม่ได้กระจุกตัวแค่ในเมือง ทำให้ไม่กระทบแม้เกิดวิกฤต ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้ายังเติบโต รวมถึง การขยายพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินก็ประสบความสำเร็จ"นายกิตติพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 3/63 SINGER ยังได้ขยายทีมขายและสาขาแฟรนไชส์ได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบัน มีตัวแทนขายอยู่ทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย มีสาขาผ่านแฟรนไชส์จำนวน 1,700 แห่ง จากแผนที่ตั้งไว้ปีนี้จะมี 2,000 แห่ง ถือเป็นจุดแข็งสำคัญในการขยายตลาดและให้บริการลูกค้าที่อยู่ในต่างจังหวัด ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการด้านสินเชื่ออย่างมีคุณภาพและครอบคลุมที่สุด รวมถึงแผนการตลาดและจัดทำโปรโมชั่นร่วมกับกลุ่มเจมาร์ท
งวด 9 เดือนปีนี้ (สิ้น ก.ย.63) SINGER มีพอร์ตสินเชื่อรวม อยู่ที่ 5,474 ล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) 2,778 ล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) 2,696 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 50.7% และ 49.3% ตามลำดับ ของสินเชื่อรวมทั้งหมด จากฐานทุนที่แข็งแกร่ง และความพร้อมในการจัดทัพทีมขายที่มีความเชี่ยวชาญ จึงมุ่งเน้นขยายพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) ให้เติบโตโดดเด่นขึ้น
โดยวางเป้าหมายสิ้นปี SINGER คาดจะมีพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินอยู่ที่ราว 3,400 ล้านบาท เติบโตเท่าตัวจากสิ้นปีก่อนมีพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท และสนับสนุนพอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้ให้เติบโตแตะ 5,800 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนมีพอร์ตรวมอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท หรือโตกว่า 61% ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้
นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า สินเชื่อรถทำเงินเป็นพอร์ตที่มีอัตราดอกเบี้ยดี และความเสี่ยงต่ำ สนับสนุนความสามารถในการทำกำไร SINGER ให้แข็งแกร่งขึ้น และเพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจดังกล่าว และลดต้นทุนทางการเงิน คณะกรรมการบริษัท มีมติให้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2563 ในวันที่ 6 พ.ย. เรื่องการออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เพื่อชำระคืนหนี้คงค้าง และ/หรือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้งการขยายธุรกิจในอนาคต