(เพิ่มเติม) ADVANC ปรับเป้ารายได้ปีนี้เป็นหดตัวอัตราระดับต่ำถึงกลางจากเดิมคาดลดลงในระดับต่ำ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 5, 2020 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยมุมมองของผู้บริหารต่อแนวโน้มทางธุรกิจในปี 63 รายได้หลักในการให้บริการ หดตัวในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำถึงระดับกลาง ปรับลงจากลดลงในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ ขณะที่ยังคงคาดการณ์กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) หดตัวในอัตราเลขตัวเดียวในระดับต่ำ ส่วนงบลงทุนโครงข่าย 4G, 5G และอินเตอร์เน็ตบ้าน ยังคงเดิม รวมประมาณ 35,000 ล้านบาท

ADVANC ระบุว่าจากสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะควบคุมได้ค่อนข้างดี และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้กลับสู่ภาวะปกติได้บ้างแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงเปราะบางจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น การหดตัวของภาคการส่งออก การหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การเมือง

ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับแรงกดดันจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนตัว คาดการณ์ว่ารายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนตัวของผู้บริโภค ประกอบกับราคาในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำจากการขายแพ็กเกจดาต้าแบบไม่จำกัดปริมาณ (unlimited data) รวมไปถึงรายได้ที่หายไปจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยังต่อเนื่องไปในไตรมาส 4/63

ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านและธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรยังคงเติบโต คาดการณ์ว่าจะยังรักษาการเติบโตด้วยเป้าหมายผู้ใช้บริการ 1.35 ล้านรายภายในสิ้นปี แม้ว่า ARPU ได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคารุนแรง ด้านธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรส่วนนอกเหนือจากบริการโทรศัพท์ (Enterprise non-mobile services) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 3% ของรายได้หลักการให้บริการนั้น คาดว่าจะยังเติบโตได้สูงในอัตราระดับเลขสองหลักจากบริการด้าน Cloud, Cyber security, IoT, IT solution โดยมีความต้องการที่สูงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนธุรกิจของลูกค้าองค์กรสู่กระบวนการดิจิทัล

นอกจากนี้ บริษัทฯเน้นการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อรักษากำไร EBITDA เอไอเอสให้ความสาคัญในการบริหารต้นทุน ทั้งต้นทุนการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร จึงคงคาดการณ์กำไรที่ EBITDA ลดลงในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ

บริษัทยังมุ่งมั่นในการลงทุนเพื่อรักษาความเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมในระยะยาวด้วยงบลงทุนเพื่อขยายโครงข่าย 4G และ 5G รวมถึงธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านรวมประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายการขยายพื้นที่ให้บริการ 5G ให้ครอบคลุมกว่า 16% ของประชากรทั่วประเทศในปีนี้ โดยในปัจจุบันครอบคลุมกว่า 60% ของประชากรในเขตกรุงเทพ รวมถึง 60% ของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์

ทั้งนี้ แพ็กเกจสาหรับบริการ 5G ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยราคาเริ่มต้น 699 บาท/เดือน และมีแพ็กเกจแบบไม่จำกัดปริมาณดาต้าที่ราคาเริ่มต้น 1,199 บาท/เดือน โดยในช่วงเริ่มต้นของเทคโนโลยี 5G นั้นยังมีรุ่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่รองรับในจำนวนที่จำกัด จึงคาดการณ์จานวนผู้ใช้บริการ 5G ในระดับประมาณ 100,000 รายภายในสิ้นปี 63

อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่รวดเร็วของอุปกรณ์ที่รองรับ 5G โดยเฉพาะระดับราคาเริ่มต้นของเครื่องโทรศัพท์ 5G ที่ลดลงอย่างรวดเร็วในอนาคต จะเป็นปัจจัยสาคัญที่ช่วยเร่งเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ 5G และรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับบริการ 5G ทั้ง Augmented reality (AR), Virtual reality (VR) และบริการเกมส์ผ่านระบบคลาวด์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวว่า ในไตรมาส 3/63 บริษัทมีรายได้รวม 41,715 ล้านบาท ลดลง 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เอไอเอส ยังคงมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือสูงที่สุด 40.9 ล้านเลขหมาย เป็นลูกค้าระบบรายเดือน 9.7 ล้านราย เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ 235,000 ราย และมีลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่ 31.2 ล้านราย ลดลง 313,000 ราย

โดยมีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี และส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจต่อเนื่องมายังไตรมาส 3 ส่วนการใช้งานดาต้าเฉลี่ยอยู่ที่ 17.2 กิกะไบต์ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.3% และสัดส่วนลูกค้าที่ใช้ 4G ยังเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเป็น 76% ของฐานลูกค้าทั้งหมด

ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ด้วยจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 53,000 ราย ส่งผลให้มีลูกค้ารวม 1.26 ล้านราย และมีรายได้จากธุรกิจเน็ตบ้าน 1,785 ล้านบาท เติบโตขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดว่าจะมีลูกค้ารวมไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้

ด้านธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรเติบโตสูงต่อเนื่องจากความต้องการใช้บริการ Cloud, Data Center และ IT Solution ที่เพิ่มขึ้นด้วยความต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และเดินหน้าสร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กรด้วยขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

ด้วยปัจจัยลบทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคธุรกิจไทยในภาพรวม ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป

ทั้งนี้ บริษัทยังคงมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรสำหรับการเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ เอไอเอส มีกำไรสุทธิ 6,764 ล้านบาท(ไม่รวมผลของมาตรฐานบัญชีไทย 16) ลดลง 6.5 % เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยหากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ผลกำไรสุทธิทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เอไอเอสยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

โดยมีการกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพียงพอต่อการลงทุนขยายโครงข่าย ทั้งบริการ 5G และ 4G รวมทั้งค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ ซึ่งบริษัทยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกรวม 65,000 ล้านบาท และคงงบลงทุนทั้งปีที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท

"การลงทุนเครือข่าย โดยเฉพาะ 5G ในปีนี้ เราไม่ได้มองเห็นแค่ผลประโยชน์ในระยะสั้น แต่ความมุ่งหวังของเอไอเอส คือการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับประเทศไทย ที่จะดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติได้ ขณะที่ ในระดับ Mass Scale อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี ถึงจะเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากการนำไปใช้งานจริง นอกจากคุณภาพของเครือข่ายแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้อีก 2 อย่าง คือการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ที่รองรับการใช้งานในราคาที่เหมาะสม รวมทั้ง การสร้างแอปพลิเคชันเฉพาะด้านที่จะเกิดประโยชน์กับกลุ่มผู้ใช้งานที่ชัดเจน"นายสมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ