CCET แนวโน้มรายได้ปี 50 สูงกว่าเป้า 2.5 พันล้านดอลล์เหตุออร์เดอร์เพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 15, 2007 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ CCET เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ในปี 50 อาจทำได้สูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมรายได้จากโรงงานในประเทศจีน เนื่องจากบริษัทได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มในส่วนของอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำรายได้หลักให้ CCET นอกเหนือจากสินค้ากลุ่ม PCBA 
อนึ่ง ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้บริษัททำรายได้ 1.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรายได้จากโรงงานในจีน 41% และโรงงานในไทย 59% โดยสัดส่วนรายได้จากโรงงานในไทยทั้งปีนี้น่าอยู่ที่ 52% และโรงงานในจีน 48%
นางนฤริน ตันติสัจธรรม รองผู้อำนวยการ สำนักงานกรุงเทพ CCET กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้รับออร์เดอร์เพิ่มเติมจากอินเดีย ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือระบบ 2.5 จีในช่วงครึ่งปีหลังอีก 9 ล้านเครื่อง จากในครึ่งปีแรกมีออร์เดอร์เพียง 3 ล้านเครื่อง แต่บริษัทจะยังไม่ปรับเป้ารายได้ปี 50 ในขณะนี้
สำหรับการลงทุนโรงงานใหม่ในจีน คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 51 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 52 ที่ประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี
ส่วนในอินเดียที่จะร่วมทุนสร้างโรงงานใหม่ในสัดส่วนถือหุ้น 40% จะเน้นผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คาดว่าจะสร้างเสร็จในไตรมาส 2/51 โดยการผลิตในอินเดียจะมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าในอินเดีย และประเทศใกล้เคียง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้ขยายการลงทุนในจีน โดยสร้างโรงงานใหม่ใช้เงินลงทุน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโรงงานในอินเดีย 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทยอยลงทุนพร้อมกันในปีหน้า รวมทั้งลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาในไต้หวันอีก 5 แสนดอลลาร์สหรัฐที่จะดำเนินการภายในปีนี้
นางนฤริน คาดว่า ในปีนี้บริษัทจะมีอัตรากำไรสุทธิที่ระดับ 3% กว่า และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 5% ถือว่าเป็นระดับใกล้เคียงกับผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และเป็นระดับที่สมเหตุสมผล
"เราพยายามรักษาระดับนี้ไว้ทุกปี คิดว่าเราทำได้ดีแล้ว เนื่องจากว่ามีการแข่งขันสูง แต่สิ่งที่จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นได้คือการที่เรามียอดขายเพิ่มขึ้น เพราะเราไม่ได้คาดหวังให้มีมาร์จิ้นสูง ๆ เพราะเป็นไปไม่ได้"นางนฤริน กล่าว
แนวโน้มธุรกิจผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Manufacturing Services : EMS)ยังดีมาก เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากในปัจจุบัน นับเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ EMS ทำให้ยอดขายสูงต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งนี้ บริษัทไม่จำเป็นต้องรับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี เนื่องจากลูกค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง เพราะเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อ และวัตถุดิบเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า
ดังนั้น ธุรกิจของบริษัทค่อนข้างอยู่ในโซนที่ปลอดภัย มีความเสี่ยงน้อย โดยเฉพาะในด้านวัตถุดิบที่สามารถ fix cost กับลูกค้า หลังจากได้รับการยืนยันคำสั่งซื้อ โดยต้นทุนวัตถุดิบมีสัดส่วนสูงถึง 95%
นางนฤริน กล่าวถึงผลกระทบกรณีเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นว่า แม้จะมีผลกระทบต่อรายได้ แต่เนื่องจากบริษัทนำเข้าวัตถุดิบถึง 90% ก็ถือว่าเป็น Natural Hedge ไป
ด้านโครงการออกวอร์แรนต์ให้กับพนักงานและคณะกรรมการ (ESOP) จำนวน 156 ล้านหน่วยนั้น คาดว่าจะได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ภายในเดือนก.ย.นี้ และคาดว่าจะเข้าเทรดได้ในเดือน ต.ค.นี้ วอร์แรนต์ดังกล่าวมีอายุ 3 ปี อัตราใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นสามัญ ในราคาใช้สิทธิ 1 บาท/หุ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ