บมจ.ปตท. (PTT) คาดว่าในปี 64 ราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 40-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปี 63 จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น และการควบคุมการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการเพิ่มขึ้นของค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ในปี 63 ที่คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.2-1.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และในปี 64 จะอยู่ที่ 1.0-2.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มผ่อนคลาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ปริมาณสำรองที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยกดดันการเพิ่มขึ้นของค่าการกลั่น
ขณะที่รายงานของ IHS ณ เดือน ต.ค.63 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในไตรมาส 4/63 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน จากไตรมาส 3/63 ไปอยู่ที่ระดับ 93.7 ล้านบาร์เรล/วัน จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการกระต้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แต่ปริมาณสำรองสูงยังคงกดดันการเพิ่มขึ้นของราคา
ราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์ในไตรมาส 4/63 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาส 3/63 จากเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว โดยราคา HDPE คาดว่าจะเฉลี่ยที่ระดับ 920-940 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนราคา PP เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 1,010-1,030 เหรียญสหรัฐ/ตัน
โดยในปี 63 คาดว่า ราคา HDPE และ PP จะเฉลี่ยอยู่ที่ 850-870 เหรียญสหรัฐ/ตัน และ 940-960 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ และในปี 64 คาดว่าราคา HDPE และ PP จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 890-950 เหรียญสหรัฐ/ตัน และ 940-1,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์จะมีกำลังการผลิตที่ขึ้นใหม่เพิ่มเติมในระดับสูงกดดันการเพิ่มขึ้นของราคา
ด้านราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในไตรมาส 4/63 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 โดยราคา BZ เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 430-450 เหรียญสหรัฐ/ตัน และราคา PX คาดว่าจะเฉลี่ยที่ 540-560 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และแนฟทามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จากความต้องการที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า
โดยในปี 63 คาดว่าราคา BZ และ PX จะเฉลี่ยอยู่ที่ 450-470 เหรียญสหรัฐ/ตัน และ 560-580 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ และในปี 64 ราคา BZ และ PX มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 460-570 เหรียญสหรัฐ/ตัน และ 580-690 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อ ประกอบกับกำลังการผลิตใหม่ที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ปริมาณสินค้าคงคลังที่สูงยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดในช่วงครึ่งแรกของปี 64