นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไรท์ทันเน็ลลิ่ง (RT) พร้อมพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพงานก่อสร้างอุโมงค์และโครงสร้างใต้ดิน งานโรงไฟฟ้าพลังน้ำ งานก่อสร้างเขื่อน ด้วยประสบการณ์ยาวนาน 20 ปีทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ หวังระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ (SET) ช่วยหนุนทำให้บริษัทสามารถขยายการรับงานแต่ละปีเพิ่มขึ้นกว่า 30% รองรับแนวโน้มงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่คาดว่าจะทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงงานในประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังมีการพัฒนาประเทศรอบด้าน
อนึ่ง RT เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 300 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.92 บาท โดยได้เปิดจองซื้อแล้ว 3-5 พ.ย. และเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้
"ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทมองโอกาสที่จะได้รับงานที่มีมาร์จิ้นสูง วางตัวเป็น Specialist เข้าไปแข่งในงานที่บริษัทถนัด งานที่ทำงานยาก คู่แข่งมีน้อย ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากที่บริษัทได้เดินทางไปโรดโชว์ IPO สะท้อนให้รู้ว่าความเป็น Specialist เป็นจุดที่นักลงทุนให้ความสำคัญ ทำให้บริษัทได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RT ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"
RT ตั้งเป้ารายได้จากนี้ไปจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20% จากที่ผ่านมารายได้จองบริษัทเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 10% ขณะที่ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.63 บริษัทตุนงานในมือ (Backlog) ไว้แล้วราว 4,258 ล้านบาทที่จะทยอยรับรู้รายได้ในช่วงนี้ไปถึงอีก 2 ปีข้างหน้า โดยมีสัดส่วนงานภาครัฐอยู่ 74% ส่วนงานภาคเอกชนมีสัดส่วน 26%
งวด 6 เดือนแรกปี 63 บริษัทมีรายได้ 1,450 ล้านบาท สูงกว่างวด 6 เดือนแรกปี 62 ที่มีรายได้ 1,043 ล้านบาท ซึ่งนายชวลิต อธิบายว่า ที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้ผลกระทบโควิด-19 และสามารถทำงานได้เร็วขึ้นส่งผลให้รับรู้รายได้เร็วกว่าแผน และยังได้รับงานพิเศษเข้ามาเพิ่มอีกมาก ทำให้รายได้มากขึ้นด้วย ขณะที่บริษัทมีกำไรสุทธิ 137.52 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 9% และคาดว่าทั้งปีจะสามารถรักษาอัตรากำไรสุทธิได้ในระดับนี้ สูงขึ้นจากปีก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิในระดับ 6.52%
ส่วนผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ในปี 60 อยู่ที่ 2,442 ล้านบาท, ปี 61 ลดลงไปที่ 1,861 ล้านบาท และปี 62 เพิ่มเป็น 2,305 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิจาก 52.7 ล้านบาท พลิกมาเป็นขาดทุน 65.12 ล้านบาทในปี 61 ก่อนพลิกฟื้นมาเป็นกำไรสุทธิ 130.66 ล้านบาทในปี 62
นายชวลิต เปิดเผยว่า ปี 61 พลิกเป็นขาดทุนเนื่องจากเข้าพื้นที่งานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ล่าช้ากว่าแผนจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือน ก.พ.61 เลื่อนไปเป็นเดือน ก.ค.61 ซึ่งหลังจากเซ็นสัญญางานดังกล่าวในเดือน ธ.ค.60 บริษัทก็ได้ปฏิเสธงานอื่นไป ทำให้ไม่มีงานมารองรับ จุดนี้ทำให้บริษัทปรับการรับงานให้รอบคอบมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุขาดทุนอีก
*เตรียมความพร้อมรับมืองานใหญ่กำลังทยอยมา
นายชวลิต กล่าวว่า โครงการภาครัฐจะเริ่มทยอยออกมาเปิดประมูลหลังจากงบประมาณปี 64 ผ่านแล้ว อาทิ รถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ ทางด่วนเส้นใหม่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว เป็นต้น แต่ละงานมีมูลค่างานสูง รวมทั้งงานในต่างประเทศจะทยอยเข้ามา อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำในเมียนมา เนื่องจากเมียนมามีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ จากที่มีอยู่เพียง 3-4 พันเมกะวัตต์ จึงคาดว่าจะมีการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าจำนวนมาก
บริษัทยังมีความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานราชการสืบเนื่องจากประสบการณ์ที่เคยรับงานโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น ขณะที่เอกชนที่เป็นพันธมิตรจากการได้รับงานสำคัญ ได้แก่ บมจ.ช.การช่าง (CK) ในโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี โครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ในสปป.ลาว, บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเม้นท์ (ITD) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นต้น
"วิจิตรภัณฑ์ ทำให้เราเกิด ช.การช่าง ทำให้เราเติบโต มีเงินหมุนเวียนได้คล่องตัว และมีงานทำอย่างต่อเนื่อง"นายชวลิต กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง RT และพันธมิตร
นายชวลิต กล่าวว่า โครงการแรกที่รับงานในฐานะผู้รับเหมาช่วงกับบริษัท วิจิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัดในโครงการเขื่อนคลองท่าด่าน จ.นครนายก ในปี 48 หลังจากนั้นมาบริษัทได้รับงานหลากหลายมากขึ้น และในช่วง 5 ปีแรกหลังจากก่อตั้งบริษัทในปี 43 บริษัทได้รับงานในต่างประเทศ ซึ่งงานแรกรับงานรับเหมาช่วงในอินเดียจาก ITD ต่อมารับงานจาก CK ที่สปป.ลาว โดยเฉพาะงานโครงการพลังน้ำไซยะบุรี ได้งานถึง 7 พันล้านบาท และในเมียนมา และเมื่อปีก่อนรับงานในกัมพูชา
งานที่ผ่านมา 20 ปี ทำให้บริษัทมีประสบการณ์และบริษัทรับเหมาที่มีความหลากหลาย เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างด้านงานวิศวกรรมโยธา งานก่อสร้างอุโมงค์ งานก่อสร้างเขื่อน งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ งานก่อสร้างท่อลอดใต้ดินและวิธีเจาะดึงท่อ และงานด้านอื่น เช่น งานขุดดินและหินทั้งแบบไร้ระเบิดและไม่ใช้ระเบิด งานเจาะสำรวจธรณีวิทยา งานปรับปรุงฐานรากด้วยวิธีอัดฉีดน้ำปูน งานถนนและสะพาน งานประตูระบายน้ำ และงานวางรางรถไฟ เป็นต้น
"เรามั่นใจเป็นผู้นำในงานอุโมงค์หิน ต่อไปก็จะเป็น อุโปงค์ประปา น้ำเสีย หรืออุโมงค์รถไฟ หลังจากที่บริษัทมีคุณสมบัติมากเพียงพอก็พร้อมเข้าแข่งขันงานดังกล่าวได้ โดยงานอุโมงค์มีแนวโน้มค่อนข้างดี"นายชวลิต กล่าว
สำหรับ Backlog ที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้แก่
-โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จ.นครราชสีมา มูลค่างาน 2,614 ล้านบาท ยังเหลือมูลค่างาน 900 ล้านบาทครบสัญญาในปี 64
-โครงการก่อสร้างและอาคารประกอบอุโมงค์ส่งน้ำ-แม่แตง จ.เชียงใหม่ มูลค่างาน 2,883 ล้านบาท มูลค่างานคงเหลือ 588 ล้านบาท ครบสัญญาในปี 64
-โครงการบ่อพักและท่อร้อยสายร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กรุงเทพมหานคร มูลค่างาน 1,257 ล้านบาท มูลค่างานเหลือ 825 ล้านบาท ครบสัญญาในปี 65
-โครงการงานขยายถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน หนองหาน-พังโคน จ.สกลนคร มูลค่างาน 755 ล้านบาท มูลค่างานเหลือ 224 ล้านบาท ครบสัญญาในปี 64
-โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย มูลค่างาน 1,429 ล้านบาท มูลค่างานเหลือ 1,279 ล้านบาท ครบสัญญาในปี 65
-งานก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำและงานปรับปรุงฐานรากเขื่อน Duantri ประเทศกัมพูชา มูลค่างาน 188 ล้านบาท มูลค่างานเหลือ 167 ล้านบาท ครบสัญญาในปี 64
และโครงการอื่นๆ มูลค่างานเหลือ 278 ล้านบาท ครบสัญญาในปี 64
https://youtu.be/4UKBC2wAl2s