นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนผลักดัน บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด (SAP) เข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 65 ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าราว 500 ล้านบาท โดย SAP เป็นบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรอีก 2 ราย ได้แก่ บริษัท พร้อม พาวเวอร์ จำกัด และบริษัท ไทยแอดวานซ์ โซล่าร์ จำกัด โดย SCN มีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 53.5% เป็นการรวมตัวกันของผู้ร่วมทุนที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านพลังงานมาอย่างยาวนาน
บริษัทคาดว่าในปี 64 จะใช้งบลงทุนราว 1,000 ล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนสร้าง Solar Rooftop เพิ่มขึ้นอีก 30 เมกะวัตต์ จากปีนี้คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันบริษัทมีการเจรจากับลูกค้ามากกว่า 200 ราย คาดว่าจะทยอยเห็นความชัดเจนต่อเนื่อง และตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมแตะ 110 เมกะวัตต์ภายในปี 66
ล่าสุดวันนี้ SAP ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) กับกลุ่มผู้ประกอบการมากถึง 11 ราย ได้แก่ บริษัท บี.ที. โอโต้พาร์ต จำกัด, บริษัท พรีซิชั่น แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท มิตรพล พลาสติก จำกัด, บริษัท จรูญรัตน์ โปรดักส์ จำกัด,บริษัท วรรณประไพ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท คินูงาว่า (ไทยแลนด์) จำกัด, บมจ.ซี พี อาร์ โกมุ อินดัสเตรียล, บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท, บริษัท บรรจง อินดัสเตรียล จำกัด, บริษัท สแควร์ พาแนล ซิสเต็ม จำกัด และ บริษัท สยามชัยพอยท์ จำกัด จำนวนกำลังการผลิตรวม 6.58 เมกะวัตต์
"SCN ให้ความสำคัญต่อการทำธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ว่าส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างมาก ทุกวันนี้เรามักจะเห็นการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ไม่สะอาด เช่นการสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหา มลพิษทางอากาศ PM2.5 และโลกกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ" นายฤทธี กล่าว
นายสารชา ตรัสโฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAP กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 62 ทำให้หลายๆ ภาคส่วนได้รับผลกระทบในวงกว้าง แต่บริษัทยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไฟฟ้าเป็นกำลังการผลิตที่จำเป็นต่อโรงงาน
ประกอบกับผู้ประกอบการหลายราย ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในโรงงานของท่าน ทำให้ความต้องการติดตั้ง Solar Rooftop ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ บริษัทตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ภายในปลายปีนี้ ณ วันนี้มีในมือแล้วกว่า 17 เมกะวัตต์ เชื่อว่าสามารถสำเร็จลุล่วงได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าในระยะยาวจะมีกำลังการผลิตรวม 110 MW ภายในปี 66
นายฤทธี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับทิศทางผลประกอบการของ SCN ในปีนี้ยอมรับว่าทั้งในแง่รายได้ และกำไรสุทธิจะต่ำกว่าปี 62 ที่มีรายได้ 3,135 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 195 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซ NGV ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันภาครัฐมีการสนับสนุนให้ใช้น้ำมันดีเซลส่งผลให้ปริมาณการใช้ก๊าซ NGV อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซ NGV ลดต่ำลง แต่บริษัทก็ยังมีสัญญาขั้นต่ำที่ต้องผลิตให้ บมจ.ปตท. (PTT) อยู่และคาดว่าปริมาณความต้องการของภาคอุตสาหกรรมน่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง
"ในปีนี้เราวางแผนไว้ว่าจะเป็นปีที่ดีมากๆสำหรับเรา แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามากดดันจึงทำให้ธุรกิจก๊าซถูกผลกระทบไปค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว ทิศทางผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้ดี"นายฤทธี กล่าว