WHAUP เผยกำไรปกติ Q3/63 โต 10% จากไตรมาสก่อน ธุรกิจน้ำ-โรงไฟฟ้า SPP หนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 13, 2020 18:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3/63 บริษัทมีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติจำนวน 648 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อนและกำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Net Income) ซึ่งเป็นดัชนีหลักในการสะท้อนผลการดำเนินงานจำนวน 195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน

ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ และกำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Net Income) ลดลง 26% และ 56% ตามลำดับ

ส่วนในงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ จำนวน 1,930 ล้านบาท ลดลง 27% และกำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Net Income) จำนวน 592 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในธุรกิจสาธารณูปโภคของกลุ่มบริษัท รายได้จากการขายน้ำในประเทศในไตรมาส 3 เติบโตขึ้นประมาณ 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเริ่มเห็นสัญญาณบวกของปริมาณขายน้ำในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มยานยนต์และปิโตรเคมี โดยคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีและต่อเนื่องไปถึงปีหน้าจะเห็นปริมาณการขายน้ำที่จะทยอยเพิ่มสูงขึ้น จากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ลูกค้าเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตและมีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้น รวมถึงปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดดำเนินการโครงการใหม่ของลูกค้า

นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โครงการ Reclaimed Water ขนาดกำลังผลิต 5,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มการผลิตเป็นน้ำอุตสาหกรรมเกรดสูง (Premium Clarified Water) เพื่อขายให้แก่ลูกค้าโรงไฟฟ้าที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การเพิ่มกำลังการผลิต Reclaimed Water อีก 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาส 4/63 นี้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการผลิตเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) ให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ภายในสิ้นปี 2563 ปริมาณการผลิต Reclaimed Water รวมของทุกนิคมอุตสาหกรรมจะเพิ่มเป็น 30,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของความต้องการใช้น้ำของลูกค้าในปัจจุบัน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในส่วนของผลการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจไฟฟ้านั้น แม้ว่ากลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) จะมีส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากโรงไฟฟ้า Gheco-One ที่ลดลง จากอัตราค่าความพร้อมจ่ายที่ลดลงตามสัญญา อัตราค่าเงินบาทที่แข็ง และราคาถ่านหินที่ลดลง อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงได้รับเงินปันผลจากการลงทุนดังกล่าวในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ในไตรมาส 3 แสดงการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น โดยส่วนแบ่งกำไรเติบโตขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ 17% นอกจากนี้บริษัทฯ ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ซึ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562

ส่วนการดำเนินการของโครงการ Solar Rooftop นั้น บริษัทได้มีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 บริษัทฯ มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 27 เมกะวัตต์ จาก 9 เมกะวัตต์ ในช่วงต้นปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 42 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปี 2563 นี้ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ กว่า 150 ล้านบาทต่อปี โดยล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถ (Solar Carpark) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขนาด 4.88 เมกะวัตต์ ในพื้นที่โรงงานผลิตรถยนต์ MG ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 ทั้งนี้บริษัทฯ มั่นใจว่าการเติบโตอย่างต่อเนื่องในธุรกิจ Solar Rooftop จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ว่า ในปี 2565 จะมีการเซ็นสัญญากับลูกค้ารวมครบ 100 เมกะวัตต์

จากศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ส่งผลให้สถานะทางการเงินมีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาล งวด 9 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.- ก.ย.) ในอัตราหุ้นละ 0.0925 บาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ