PwC คาด Q1/64 สินทรัพย์-กำไร บจ.หดหลังหมดมาตรการผ่อนปรนโควิดสิ้นปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 16, 2020 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาววันดี ลีวรวัฒน์ ผู้อำนวยการ บริษัท PwC ประเทศไทย และ นางสาวสินสิริ ทังสมบัติ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบต่องบการเงินบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยปี 64 หลังมาตรการผ่อนปรนทางบัญชีสิ้นสุดปลายปีนี้ว่า แนวโน้มมูลค่าสินทรัพย์ของ บจ.ลดลง และกระทบต่องบกำไรขาดทุน รวมถึงส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on asset) และ P/E ratio

ทั้งนี้ จะเห็นชัดว่าหากไม่มีการต่ออายุข้อผ่อนปรนก็มีแนวโน้มจะกระทบสถานะการเงินของ บจ. ได้แก่ ลูกหนี้การค้าหรือลูกหนี้สัญเช่า หากข้อผ่อนปรนหมดไปก็ต้องใส่ผลกระทบโควิด-19 จึงมีโอกาสที่ลูกหนี้เผื่อสงสัยจะสูญมีจำนวนสูงขึ้น มูลค่าลูกหนี้การค้าหรือลูกหนี้สัญญาเช่าจะลดลง ส่งผลกระทบไปที่งบกำไรขาดทุนโดยตรง ส่วนที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ หากบันทึกผลกระทบโควิด-19 ตัวมูลค่าก็จะลดลงด้วย

ขณะที่การลงทุนตราสารหนี้และตราสารทุนที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หากใส่ผลกระทบโควิด-19 ก็จะมีทั้งผลบวกและลบ แต่หากบริษัทที่เข้าลงทุนได้รับผลกระทบโควิด-19 ก็จะทำให้งบกำไรขาดทุนลดลง

จากที่สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ออกมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเป็นมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบจากปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีบางเรื่อง และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในวิธีปฏิบัติทางบัญชีในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยอนุญาตเริ่ม 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 นั้น มีข้อกังวลประเด็นที่พิจารณาคือความเปรียบเทียบกันของตัวเลข เท่าที่ทราบในอุตสาหกรรมเดียวกันหลายบริษัทเลือกใช้ข้อผ่อนปรนคนละข้อ หรือใช้ข้อเดียวกันแต่มีมุมมองไปข้างหน้าแตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อประมาณการของบริษัท

รวมทั้งมีข้อกังวลในปีหน้าหลังจากที่ข้อผ่อนปรนหมดอายุและเริ่มในไตรมาส 1/64 หากการผ่อนปรนไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง จะมีการเตรียมตัวอย่างไร หรือจะต้องเปิดเผยในงบการเงินหรือไม่

ทั้งนี้ มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวดังกล่าว ได้แก่ 1.การวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยวิธีอย่างง่าย (TFRS 9) 2.การวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด (TFRS 9) 3.การวัดมูลค่ายุติธรรมสำหรับรายการสินทรัพย์ทางการเงิน และสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน (TFRS 13) 4.การเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่า (TFRS 16) 5.การกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (TAS 12) 6. การประเมินข้อบ่งชี้การด้อยค่าของสินทรัพย์ (TAS 36) และ 7. การประมาณการหนี้สิน (TAS 37)

นางสาววันดี กล่าวว่า การวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสภาฯให้ข้อยกเว้นสำหรับบริษัทมี่มีลูกหนี้การค้า หรือลูกหนี้สัญญาเช่า โดยจะนำอดีตและปัจจุบันมาประเมินเท่านั้น ยกเว้นไม่ต้องนำเหตุการณ์อนาคตมาประเมิน แต่เมื่อสิ้นสุดการผ่อนปรนแล้ว อาจจะมีลูกค้าหนี้เผื่อสงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทจะต้องมีการประเมินว่าหลังไม่มีข้อผ่อนปรนแล้วจะเป็นอย่างไรเพื่อประเมินสถานการณ์ไม่ให้เกิด Surprise กับนักลงทุน

สำหรับการวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด หรือไม่ได้เป็นตราสารทุนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทลูกบริษัทร่วมทุนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการประเมินมูลค่าเงินลงทุนจะที่ผ่อนปรนไม่ต้องทำใหม่ทุกไตรมาสจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งก็จะทำให้ไม่มีผลกำไรขาดทุนในงบกำไรขาดทุน แต่ที่น่ากังวลที่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดมีผลกระทบค่อนข้างมากในไตรมาส 1/63 และเมื่อกลับมาใช้เกณฑ์เดิมในไตรมาส 1/64 ต้องดูว่าตัวเลขจะเหวี่ยงมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะกระทบกับงบกำไรขาดทุน หรือ กำไรต่อหุ้น

นางสาววันดี ยังกล่าวว่า ส่วนรายการสินทรัพย์ทางการเงินที่ผ่าน SPPI Test ก็ต้องพิจารณาว่าเมื่อวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์จะใช้ Business Model แบบใด ซึ่งมีแบบ Amortised cost, FVOCI (Fair Value through Other Comprehensive Income) และ FVPL (Fair Value Through Profit and Loss) ซึ่งทั้งวิธี FVOCI และ FVPL สินทรัพย์ที่อยู่ level 2-3 ต้องประมาณการกระแสเงินสด หรือหาส่วนลดกระแสเงินสด แต่สภาฯให้น้ำหนักของข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นน้ำหนักน้อย เพราะเป็นสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

ขณะที่นางสาวสินสิริ กล่าวว่า หากบริษัทไปลงทุนตราสารหนี้ที่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ (ThaiBMA) ถูกจัด level 2 เพราะมีสภาพคล่องต่ำกว่าตราสารทุนในตลาดหลักทรัพย์ และไม่ได้จัดอยู่ในข้อยกเว้นนี้ เพราะราคาในตลาดได้สะท้อนมูลค่าไปแล้ว

นางสาววันดี เสริมว่า หากเป็นสินทรัพย์ประเภทที่ดิน อาคารและอุปกรณ์แล้วตีราคามูลค่ายุติธรรม (Fare Value) ข้อผ่อนปรนนี้ก็ใช้ได้

ส่วนสัญญาเช่า ใช้กับผู้เช่าเท่านั้นหากใช้ข้อผ่อนปรน เมื่อไม่ได้ต่ออายุข้อผ่อนปรนในปี 64 ก็ไม่ได้บันทึกส่วนลดในงบด้วย แต่หากไม่ใช้ข้อผ่อนปรนก็จะบันทึกตามส่วนลดที่ได้รับเฉลี่ย 5 ปีเท่าๆกัน

นางสาววันดี การรับรู้สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ขึ้นอยู่กับกิจการมีผลแตกต่างชั่วคราวที่ต้องเสียภาษี หรือ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่ากิจการจะมีกำไรทางภาษี หรือกิจการมีการวางแผนภาษีเพื่อสร้างกำไรจากภาษี อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เห็นว่ามีความไม่แน่นอนสูง และอาจเกิดผลขาดทุนทางภาษี ฉะนั้น สภาฯก็ผ่อนปรนไม่นำสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลต่อกำไรในอนาคตมาประเมิน ดังนั้นในไตรมาส 1/64 ธุรกิจก็ต้องประเมินว่าภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างไร จากที่เคยบันทึกเป็นสินทรัพย์ก็จะกลับรายการล้างสินทรัพย์นั้นออกไปเข้างบกำไรขาดทุนจะกระทบกำไรในไตรมาส 1/64

สำหรับการประเมินข้อบ่งชี้การด้อยค่าสินทรัพย์มี 2 แหล่ง มาจากข้อมูลภายใน เช่น สินทรัพย์ล้าสมัยหรือชำรุด มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของลักษณะที่กิจการคาดว่าจะใช้สินทรัพย์ ผลการปฏิบัติงานเชิงเศรษฐกิจของสินทรัพย์ลดลงกว่าที่คาด ส่วนแหล่งข้อมูลภายนอก เช่น มูลค่าของสินทรัพย์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อกิจการ กระแสเงินสดที่ได้รับจริงหรือกำไรจากการดำเนินงานต่ำกว่างบประมาณอย่างมีสาระสำคัญ ทั้งนี้ หากธุรกิจได้รับผลกระทบโควิด-19 ก็ไม่จำเป็นต้องประเมินในส่วนนี้หรือไม่มีข้อบ่งชี้

แต่สภาฯให้ยกเว้นเรื่อง ค่าความนิยม สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน เช่น แบรนด์สินค้า และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ยังไม่พร้อมใช้งาน ซึ่งปกติต้องประเมินมูลค่าสินทรัพย์ทุกปี แต่ให้สามารถไม่ต้องใช้ข้อมูลผลกระทบโควิดมาคำนวณ

"การใช้ข้อผ่อนปรนเป็นการให้เป็นเรื่องๆ แต่เมื่อเวลาทดสอบ Imparement แต่ก็จะใช้ judgement ต่อให้เราใช้ข้อผ่อนปรนเดียวกัน judgement ของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน บริษัทก็ต้องเปิดเผยข้อมูล"

ส่วนการประมาณการหนี้สิน ข้อผ่อนปรนให้กิจการสามารถเลือกที่จะไม่นำสถานการณ์โควิด-19 มาพิจารณาเป็นเหตุการณ์ที่มีผลทำให้เกิดภาระผูกพันในปัจจุบันซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ในอดีต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ