นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) เปิดเผยว่า ผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 63 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,988.1 ล้านบาท ลดลง 30.9% จาก 2,879.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 251.3 ล้านบาท ลดลง 28.9% จาก 353.7 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนช่วงเวลาเดียวกัน
ขณะที่ช่วงไตรมาส 3/63 มีกำไรสุทธิ 108.5 ล้านบาท ลดลง 19.6% จาก 135.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และรายได้รวม 624.9 ล้านบาท ลดลง 33.3% จาก 937.4 ล้านบาท
โดยมีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 5,201.2 ล้านบาท ลดลง 30.1% จาก 7,438.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 จากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่องมา 8 ไตรมาส ผลประกอบการดังกล่าวเป็นการตั้งสำรองโดยใช้มาตราฐานบัญชี TFRS 9 ทั้งนี้ หากบริษัทตั้งสำรองตามข้อผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ตามแนวปฏิบัติทางการบัญชี บริษัทจะมีกำไร 9 เดือนแรก 337.1 ล้านบาท หรือ มีกำไรโตขึ้น 34.2%
"ผลประกอบการไตรมาส 3 เปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ภาพรวมลดลง เนื่องจากตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกของปี 63 นี้ ธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงลูกค้าบางส่วนของ TK ซึ่งสถานการณ์รุนแรงจนเป็นวิกฤติของโลกและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 62 ที่ขยายตัวเพียง 2.4%
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบผลประกอบการไตรมาส 3/63 กับไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมา พบกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 107% เป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้นในองค์กร รวมทั้งการบริหารจัดการแหล่งต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนให้เห็นการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาที่ไม่เอื้อต่อการขยายพอร์ตลูกค้า
ด้วยการใช้มาตรการที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและการควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งบริหารจัดการแหล่งต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ TK มีทรัพยากรพร้อมขยายตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทันทีที่ตลาดปรับตัวหรือเมื่อมีโอกาส" นางสาวปฐมา กล่าว
ด้าน นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวเสริมว่า ในสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย TK หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าในพอร์ต นอกจากการควบคุมค่าใช้จ่ายและการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 3/63 ลดลง 35.6% จาก 737.2 ล้านบาท เป็น 474.9 ล้านบาท ทั้งยังคงควบคุมต้นทุนทางการเงินตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ โดยมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 15.6 ล้านบาท ลดลง 49.5% จาก 30.9 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากมีการใช้วงเงินกู้ลดลงเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ประกอบกับมีการบริหารจัดการแหล่งต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ
โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 นี้ หลังจากชำระหุ้นกู้จำนวน 800 ล้านบาทแล้ว บริษัทฯ มีสถานะเงินสดอยู่ที่ระดับประมาณ 1,520 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามีความพร้อมที่สามารถชำระค่าหุ้นในการซื้อกิจการ MFIL ในประเทศเมียนมา อีกทั้ง D/E ratio ณ สิ้น ไตรมาส 3 อยู่ที่ 0.39 เท่า ลดลงจาก 0.73 เท่า จากปี 2562
"แม้ว่าผลประกอบการในประเทศจะหดตัว แต่ผลประกอบการในต่างประเทศของ TK ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 24% ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 63 โดยมาจากกัมพูชาเป็นตลาดหลัก 20% และคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 26% ภายในสิ้นปี 2563 นอกจากนี้ TK ยังคงมองหาโอกาสที่จะขยายตลาดในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมเข้าลงทุนทันทีที่เห็นช่องทางและโอกาสที่เหมาะสมตามกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายไว้" นายประพล กล่าว