(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก:วิตกแนวโน้มศก.สหรัฐ ฉุดดาวโจนส์ปิดร่วง 280.28 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 29, 2007 06:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลง 280 จุดเมื่อคืนนี้ (28 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ยื่นมือเข้าแทรแซงตลาดด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบและปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อก็ตาม
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 280.28 จุด หรือ 2.10% ปิดที่ 13,041.85 จุด ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนี S&P 500 รูดลง 34.43 จุด หรือ 2.35% ปิดที่ 1,432.36 จุด และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 60.61 จุด หรือ 2.37% ปิดที่ 2,500.64 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ประมาณ 2.96 พันล้านหุ้น เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับวันจันทร์ที่ 2.35 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 3 ต่อ 1
ก่อนหน้านี้นักลงทุนและนักวิเคราะห์บางกลุ่มคาดหวังว่า ในการประชุมวันที่ 18 ก.ย.นี้ เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นเพื่อลดความผันผวนในตลาด แต่นักลงทุนมีปฏิกริยาในด้านลบต่อรายงานการประชุมประจำวันที่ 7 ส.ค.ของเฟดที่พูดถึงวิกฤตการณ์ในตลาดว่า "หากสถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อยาวนานกว่านี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งทำให้เฟดจำเป็นต้องใช้นโยบายบางอย่างเข้าคลี่คลาย"
นายคริส จอห์นสัน นักวิเคราะห์จากบริษัทจอห์นสัน รีเสิร์ชกล่าวว่า "รายงานการประชุมครั้งนี้แม้เฟดแสดงความกังวลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง แต่เฟดไม่ได้หารือกันเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งประเด็นนี้ทำให้นักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีทส่วนใหญ่ผิดหวัง อย่างไรก็ตาม ผมมองว่านักลงทุนควรตั้งข้อสังเกตุว่า รายงานการประชุมฉบับนี้มีขึ้นก่อนเฟดจะตัดสินใจยื่นมือเข้าคลี่คลายวิกฤตการณ์ในตลาด ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน 0.50% เมื่อวันที่ 17 ส.ค."
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากรายงานที่ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.ปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะผันผวนในตลาดการเงินและปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดสินเชื่อ และดัชนีบ่งชี้สถานะตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ที่บ่งชี้ว่า ราคาที่อยู่อาศัยของสหรัฐในไตรมาสที่ 2 ร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่ปี 2530
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มการเงินถูกแรงขายกระหน่ำลงอย่างรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนมีปฏิกริยาในด้านลบต่อข้อมูลเศรษฐกิจและการที่เมอร์ริล ลินช์ได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นซิตี้กรุ๊ป หุ้นเลห์แมน บราเธอร์ส และหุ้นแบร์ สเติร์นส์ เนื่องจากความวิกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของวาณิชธนกิจเหล่านี้
การปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนครั้งนี้ส่งผลให้หุ้นเลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ร่วงลง 6% หุ้นแบร์ สเติร์นส ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ดิ่งลง 3.4% และหุ้นซิตี้กรุ๊ป ร่วงลง 3.5%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ