ASP มองศก.ไทยส่งสัญญาณดีเล็งภาครัฐกระตุ้นต่อแต่โลกยังเสี่ยงติดเชื้อโควิดพุ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 17, 2020 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASP) กล่าวถึง Economic Update ผ่านเพจ ห่วงใย This Business ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังน่ากังวลที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มในอัตราเร่งตัว แต่ก็มีความคืบหน้าการผลิตวัคซีนโควิดที่คาดว่าจะใช้ได้ในช่วงครึ่งหลังปี 64

ส่วนภาวะเศรษฐกิจในไทยดีขึ้น จากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 3/63 ออกมาดีกว่าคาด และปรับคาดการณ์ GDP ในปี 63 ติดลบน้อยลง อย่างไรก็ตามต้องติดตามปัจจัยการเมืองที่จะมีการชุมนุมในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย.ที่รัฐสภามีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้ยังน่ากังวล เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อของทั้งโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 1 ล้านกว่าคนใน 2 วัน และมีอัตราการตายมากขึ้น แม้ว่าจะมีความคืบหน้าการผลิตวัคซีนโควิด-19 แต่ก็ยังต้องใช้เวลา โดยมีการคาดการณ์ว่าจะกระจายไปถึงมือประชาชนทั่วไปในช่วงครึ่งหลังปีหน้า ดังนั้น ก็ยังต้องระวังเรื่องโควิด-19 กันต่อไป

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า จากการประกาศความคืบหน้าของการทดลองวัคซีนจาก 2 แหล่ง ได้แก่ ไฟเซอร์ และ BioNTech เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา หนุนดัชนีดาวโจนส์ปรับขึ้นกว่า 1,000 จุด ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นกว่า 50 จุด ส่วน Moderna ที่ประกาศเมื่อคืนนี้ตลาดตอบสนองเบาลง โดยดัชนีดาวน์โจนส์ก็ปรับตัวขึ้นไม่มาก ระหว่างที่รอวัคซีนก็ไม่แน่ใจว่าผู้ติดเชื้ออาจจะปรับตัวขึ้นไปถึง 80 -100 ล้านคน และหากมีการระบาดเพิ่มก็อาจจะต้องล็อกดาวน์กันอีกครั้ง เหมือนกับที่หลายประเทศดำเนนการ ดังนั้น เรื่องนี้ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ตัวเลขGDP ของไทยในไตรมาส 3/63 ติดลบ 6.4% ดีกว่าที่คาดว่าจะติดลบ 8-10% และทำให้สภาพัฒน์ปรับประมาณการ GDP ปี 63 ใหม่เป็นติดลบ 6% จากเดิมติดลบ 7.8-7.3% เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐ การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกในไตรมาส 3/63 ดีขึ้นจากไตรมาส 2/63

ขณะเดียวกันในปลายไตรมาส 3 และในไตรมาส 4 นี่มีการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐ 3 มาตรการ ที่ทำให้มีการครอบคลุมทุกกลุ่ม และกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ได้แก่ การเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียน 2.1 หมื่นล้านบาท โครงการคนละครึ่ง คาดว่าจะมีเงินสะพัด 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการนี้มีกระแสตอบรับดีมาก คาดว่าจะมีโครงการคนละครึ่งเฟส 2 เฟส 3 และ โครงการช้อปดีมีคืน เป็นการกระตุ้นของกลุ่มที่มีกำลังซื้อให้กลับมา โดยคาดว่าจะมีเงินหมุนเวียน 1.11 แสนล้านบาท รวมทั้ง 3 มาตรการจะมีเงินหมุนเวีย 1.92 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนจีดีพี 1.1% ซึ่งน่าจะมีผลให้การบริโภคคึกคักขึ้นมา และทำให้ไปหมุนเครื่องยนต์ตัวอื่น

นายเทิดศักด์ คาดว่าเครื่องยนต์ตัวถัดมาที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป คือ การลงทุนภาคัฐที่มีหลายโครงการที่รออยู่ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ มูลค่าก่อสร้าง 1.27 แสนล้านบาท ที่มีกลุ่ม BTS และ กลุ่ม BEM เข้ามาแข่งขัน น่าสรุปผลและเซ็นสัญญาได้ในช่วงครึ่งแรกปี 64 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 1 แสนล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติแล้ว น่าจะเห็นการประมูลในช่วงครึ่งแรกปี 64 โครงการรถไฟสายสีแดง รอการพิจารณาเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) ส่วนที่เหลือเป็นโครงการรถไฟทางคู่ คาดมีการประมูล 6-7 เส้นทาง มีความคืบหน้าแล้ว โดยครม.อนุมัติ และ EIA ผ่านการอนุมัติ

"ภาพที่เราเห็นจีดีพีไตรมาส 3 ออกมาแล้วดีกว่าคาด แล้วเรายังเห็นมาตรการต่อเนื่องในการทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจซึ่งมี 4 ตัว คือการบริโภคภาคครัวเรือน (C) การลงทุนภาครัฐ (G) การลงทุนภาคเอกชน (I) และการค้าระหว่างประเทศ (X) เริ่มกลับมาทำงาน"

นอกจากนั้น เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยเข้าร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรี (RCEP) ที่มี 10 ชาติอาเซียน รวม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ซึ่งไทยรอสัตยาบันกลางปี 64 โดย RCEP เป็นข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 32% ของ GDP โลกทำให้มีการค้าเติบโตและขยายตัวได้เร็ว โดยไทยมียอดส่งออกในกลุ่ม RCEP 40-50% สินค้าส่งออกที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ อาทิ สินค้าเกษตร อาหาร และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับ ASP ได้ปรับประมาณการ GDP ของไทยใหม่เป็นติดลบ 6.5% จากเดิมติดลบ 7.9% โดยเป็นการปรับการบริโภคภาคครัวเรือน จากเดิมติดลบ 3.5% เป็นติดลบ 1.1% หลังจากเห็นในช่วง 9 เดือนติดลบไปเพียง 1.7% และการลงทุนภาครัฐที่งวด 9 เดือนขยายตัว 7.3% จึงปรับประมาณการทั้งปีเป็นขยายตัว 7.9% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ