BPP คาดสรุปเจรจา M&A โรงไฟฟ้าก๊าซในสหรัฐ ขนาด 600-900MW ใน H1/64

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 17, 2020 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปูเพาเวอร์ (BPP) เปิดเผยว่า บริษัทได้เจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าก๊าซในสหรัฐอเมริกา 4 ราย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว ขนาดกำลังการผลิต 600-900 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งโรงไฟฟ้าที่เจรจาอยู่นั้นตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส และ รัฐเพนซิลวาเนีย ซึ่งบมจ.บ้านปู (BANPU) ได้ลงทุน Shale Gas อยู่แล้ว และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการเจรจาการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวได้ในช่วงครึ่งแรกปี 64 โดยมีแผนจะเดินทางไปเจรจาที่สหรัฐอเมริกาในช่วงต้นปี 64

ขณะที่บริษัทเห็นโอกาสเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและโรงไฟฟ้าโซลาร์ในเวียดนามเพื่อสร้าง cash flow ในระยะเวลาสั้นได้ดี รวมทั้งการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมเองด้วย ซึ่งบริษัทคาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าในเวียดนามอย่างน้อย 200 เมกะวัตต์ เพราะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็ว เพราะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่มาก ซึ่งขณะนี้ทางการเวียดนามมีเงินอุดหนุนพลังงานหมุนเวียน

โรงไฟฟ้าพลังงานลมหมุยยินในเวียดนามที่เพิ่งซื้อเข้ามา ขนาดกำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทลงทุน 33 ล้านเหรียญ คาดว่าจะเริ่มรับรู้กำไรในไตรมาส 1/64 ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา ระยะที่ 1 กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดเลื่อนจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือน พ.ค.64 จากเดิมคาดไว้ในไตรมาส 1/64 เพราะรับผลกระทบโควิด-19 ทำให้เกิดความล่าช้าการขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้าง และโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา ระยะที่ 2 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ กำลังศึกษาดูความเป็นไปได้โครงการก่อน

นอกจากนี้ บริษัทจะลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง ได้แก่ Kedennuma กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์คาด COS ในไตรมาส 3/64 และ Shirakawa กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ คาด COD ในไตรมาส 4/63 โดยการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีทั้งลงทุนเองที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการและเข้าซื้อกิจการ

นายกิรณ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ลงทุน 40 ล้านเหรียญ จะเริ่มขายไอน้ำก่อนในเดือน ธ.ค.63 ส่วนการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จะเริ่มในไตรมาส 1/64 ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาขายไฟสัญญาเป็นลักษณะปีต่อปี

นอกจากนี้ ในไตรมาส 4/63 ยังมีกำลังการผลิตใหม่ จากญี่ปุ่นที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้ายามางาตะ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ที่เริ่ม COD เมื่อ 16 พ.ย.63 ส่วนโรงไฟฟ้ายาบูกิ กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ในเดือน ธ.ค.63 จะช่วยหนุนรายได้และกำไรของบริษัทในไตรมาส 4/63 เพราะจะไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าหลังจากได้เร่งดำเนินการในไตรมาส 2-3 ไปแล้วทำให้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดินตามกำลังการผลิตเต็มที่

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP กล่าวว่า ตามที่บริษัทตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตที่ 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 68 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่ดำเนินการแล้ว 2,300 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 553 เมกะวัตต์ รวม 2,853 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือบริษัทยังเดินหน้าการลงทุนภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การร่วมลงทุนไปพร้อมกับ บมจ.บ้านปู (BANPU) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดยปัจจุบันมีการลงทุน 11 ประเทศ อาทิ สหรัฐฯ, ลงทุนในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง โดยเฉพาะนอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น และเน้นการเติบโตธุรกิจพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ผ่านบ้านปู เน็กซ์ ซึ่ง BPP ร่วมลงทุนกับ BANPU ฝ่ายละครึ่งที่เน้นใช้ Energy Technology ซึ่งในเป้าหมายจะมีพลังงานทดแทน 800 เมกะวัตต์ หรือ 20% ของ 5,300 เมกะวัตต์

สำหรับแหล่งเงินทุนนั้น บริษัทยืนยันว่ามีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะใช้ลงทุนซื้อโครงการใหม่ๆ โดยปกติจะมีเงินสดในมือ 2 พันล้านบาท แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทกันเงินสดไว้ถึง 5 พันล้านบาท แต่ขณะนี้จะกลับมารักษาเงินสด 2 พันล้านบาทตามเดิม นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสามารถก่อหนี้ได้อีกมาก เพราะมีอัตราหนี้สินสุทธิต่ำมากที่ 0.08 เท่า จึงไม่ได้กังวลในการจัดหาเงินทุน แต่หันไปเฟ้นหาสินทรัพย์ที่จะลงทุน

นายกิรณ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดไฟฟ้าในโลกกำลังเปลี่ยนไปเป็น Merchant Market ซึ่งอยู่ในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ จากที่เป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) เช่น ในไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม โดยรูปแบบใหม่นั้นการซื้อขายไฟฟ้าจะอยู่ในตลาดรอง รัฐบาลไม่เข้ามายุ่ง โดยสามารถซื้อขายไฟฟ้าได้โดยที่เราไม่ต้องเป็นผู้ผลิต ข้อดีคือหากเรามีไฟฟ้าที่ผลิตเองและมีจำนวนมากก็จะสามารถยืดหยุ่นการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดรองได้มากขึ้น

BPP เริ่มมีการเทรดดิ้งซื้อขายไฟฟ้าซึ่งมีการซื้อขายไฟในตลาดรองในญี่ปุ่นที่มีกำลังผลิตเองราว 140 เมกะวัตต์ การเทรดดิ้งไฟฟ้าก็มีโอกาสทำกำไรมากขึ้น แทนการมีเพียงสัญญา PPA ที่รายได้ทรงตัว และเมื่อไปลงทุนด้วยกันทั้งกลุ่มทำให้ต้นทุนไม่สูง อย่างไรก็ตาม การมีโรงไฟฟ้าผลิตเองก็เป็นการบริหารความเสี่ยง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน พอร์ตโรงไฟฟ้าของ BPP ส่วนใหญ่ยังเป็นสัญญา PPA ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ