TU เล็งร่วมทุน Startup-พันธมิตรวางฐานธุรกิจ Foodtech รับตลาดอาหารสุขภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 18, 2020 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพร้อมการลงทุนรองรับธุรกิจใหม่หรือ Foodtech เช่น อาหารทะเลที่ผลิตจากโปรตีนจากพืช เป็นต้น เพื่อรองรับตลาดอาหารสุขภาพ

โดยในปี 64 ตั้งงบลงทุนกว่า 6 พันล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนปกติ 4.2-4.5 พันล้านบาท เช่น การลงทุนสร้างห้องเย็นใหม่ในกานา วงเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และราว 2 พันล้านบาทเป็นการลงทุนธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนคอลลาเจนเปปไทด์ วงเงินลงทุน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และการลงทุนอาหารสำเร็จรูป วงเงิน 1 พันล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการลงทุนในประเทศไทย

ส่วนเงินลงทุนในปี 63 นี้บริษัทลดวงเงินลงทุนมาที่ 3.7 พันล้านบาทจากที่ตั้งงบลงทุนไว้ 4.9 พันล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าการลงทุนได้

โดยงบลงทุน 4.2-4.5 พันล้านบาทในปีหน้าจะเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไม่นับรวมการซื้อกิจการ (M&A) โดยการลงทุนธุรกิจใหม่เพื่อเน้นเพิ่มความสามารถทำกำไรที่บริษัทคาดหวังจะมีมาร์จิ้นมากว่า 20% สูงกว่าธุรกิจหลักในปัจจุบัน

"M&A ไม่ใช่ Priority ของเรา เพราะ M&A ส่วนใหญ่ในอดีตเป็นการทำธุรกิจหลักของเราซึ่งวันนี้คิดว่าธุรกิจหลักของเราเพียงพอ เราจะมองในแง่โอกาสใหม่ๆ เสียมากกว่า แล้วโอกาสใหม่ๆ บริษัทไม่ได้จำกัดที่ M&A แต่เราจะเน้นเรื่องความร่วมมือในรูป Joint Venture ให้มากยิ่งขึ้นด้วย"นายธีรพงศ์ กล่าว
นอกจากวงเงินลงทุนดังกล่าวแล้ว บริษัทยังตั้งงบ 30 ล้านเหรียญสหรัฐที่ใช้ลงทุน Startup เน้นธุรกิจโปรตีนทางเลือก อาหารฟังก์ชั่นและมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ในช่วง 3-5 ปี โดยบริษัทจะเช้าถือหุ้นแต่ละรายไม่เกิน 10% หรือไม่เกิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงสูง มีโอกาสล้มเหลวสูง บริษัทเฟ้นหาบริษัทที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือมี Business Model ที่ใหม่ ซึ่งเริ่มลงทุนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 5 ล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 5 บริษัท เป็นบริษัท อัลเคมี ฟู้ดเทคที่ทำธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจากสิงคโปร์, บริษัท ไฮโดรนีโอ บริษัทเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ อยู่ในไทย , บริษัท มันนา ฟู้ดส์ จำกัด บริษัทโปรตีนจากแมลงและอีคอมเมิร์ซจากสหรัฐอเมริกา, บริษัทจากเยอรมัน และ อิสราเอล และคาดว่าในไม่กี่เดือนข้างหน้าจะลงทุนเพิ่มอีก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 2-3 บริษัท

อีกทั้งบริษัทจะมองหาความร่วมมือ หรือการร่วมลงทุน (joint venture) กับพันธมิตรต่างๆ เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญ และบริษัทน่าจะขวนขวายหาพันธมิตรที่มีความชำนาญเสริมซึ่งกันและกันได้ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายธีรพงศ์ ระบึว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารแนวใหม่ เพื่อผลักดันให้เกิดความต้องการหรือดีมานด์ และจะทำให้ธุรกิจมี Scale ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ธุรกิจไทยสร้างความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือเรื่องเงินเสมอไป

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU ยังคาดว่ายอดขายในปี 64 ยังเติบโตต่อเนื่อง 5% ในรูปเงินบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 5% และปีหน้าคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) จะอยู่ระดับ 16-17% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีมาร์จิ้นกว่า 17% โดยงวด 9 เดือนปี 63 อยู่ที่ 18% ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสามารถทำกำไรได้ดีขึ้น

บริษัทมองว่าธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 ที่มีการล็อกดาวน์ไปแล้ว และในไตรมาส 3/63 ทุกอย่างปรับตัวดีขึ้น แต่เชื่อว่าสถานการณ์ยังไม่ดีเหมือนก่อนจะเกิดสถานการณ์โควิด และมองว่าแนวโน้มในไตรมาส 4/63 ผลประกอบการน่าจะอยู่ในระดับน่าพอใจ และคาดในปี 64 โควิดก็ยังอยู่อย่างน้อยทั้งปี จึงยังต้องดูแลเรื่องการใช้จ่าย การลงทุน กระแสเงินสดต่อไป

"กระแสเงินสด ยังต้องดูแลให้ดี เพราะเห็นว่าโควิดยังอยู่กับเราในปีหน้าซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตามบริษัทยังสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างน้อย 2 ปีนโยบายไม่ต่ำกว่า 50%ของกำไรสุทธิ แต่หากกำไรมากขึ้นก็สามารถจ่ายได้มากขึ้น ทั้งนี้ในสิ้นไตรมาส 3/63 บริษัทมีกระแสเงินสดสูงกว่า 9 พันล้านบาทเป็นระดับสูงกว่าปีก่อนที่มีระดับกระแสเงินสด 7 พันล้านบาท"นายธีรพงศ์ กล่าว

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ในธุรกิจความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติ เรามี Track Record ว่าตั้งแต่จัดตั้งบริษัทมา 42 ปี บริษัทไม่เคยประสบผลขาดทุนแม้แต่ 1 ไตรมาส ความสามารทำกำไรของบริษัท ทั้งๆที่ผ่านวิกฤตต่างๆ บริษัทเป็นธุรกิจมีความจำเป็น ซึ่งเป็นธุรกิจอาหาร ราคาไม่สูง บริษัทอยู่ในธุรกิจปลอดภัย

ขณะที่ธุรกิจในสหรัฐฯ ที่บริษัทลงทุนมากกว่า 20 ปี พร้อมปรับตัวไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี บริษัทเตีรยมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา มีแต่ยากขึ้นเรื่อยๆ ณ วันนี้แต่ละประเทศเศรษฐกิจอ่อนแอ ทุกประเทศก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายใน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ