นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้และกำไรสุทธิปี 63 จะลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 11,318.50 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 511.62 ล้านบาท หลัง 9 เดือนแรกมีรายได้ 7,896 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 396 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 ปรับตัวลงไปค่อนข้างมาก
แต่อย่างไรก็ตามในไตรมาส 3/63 ผลการดำเนินงานก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น และมองแนวโน้มในไตรมาส 4/63 หากไม่มีการล็อกดาวน์รอบ 2 ก็น่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง และน่าจะทำได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นไตรมาสที่ทำยอดขายดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ และธุรกิจพลังงานที่ยังอยู่ในทิศทางที่ดีก็น่าจะสนับสนุนให้อัตรากำไรสุทธิในปีนี้ให้ปรับตัวดีขึ้น
"เราพอใจกับราคาน้ำมันที่ถูกลง หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 40 เหรียญฯ/บาร์เรล จากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญ/บาร์เรล และวัตถุดิบอื่นๆ เช่น Soda ash ที่ถูกกว่าปีก่อน ทำให้ผลกำไรอขงเราดีขึ้น รวมถึงธุรกิจพลังงานที่เข้ามาเป็นตัวเพิ่มผลกำไรให้กับเราด้วย ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมทั้งปีจะลดลงกว่าปีก่อน แต่เราก็พอใจ"นายศิลปรัตน์ กล่าว
ส่วนกรณีที่บริษัทแจ้งยกเลิกการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2563 ในวันที่ 15 ธ.ค.63 เพื่อพิจารณาการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP), บริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) และบริษัท กบินทร์บุรีกล๊าส อินดัสทรี จำกัด (KBI) จากบมจ.บางกอกกล๊าส (BG) ซึ่งเป็นการเข้าทำรายการที่มีนัยสำคัญและเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน รวมทั้งการเพิ่มทุนจดทะเบียนนั้น นายศิลปรัตน์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่บริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้วนั้น ในช่วงกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา BGC ได้ทำการโรดโชว์ โดยได้พูดคุยแบบทางการและไม่เป็นทางการกับผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำต่างๆ ทำให้บริษัทฯ ตัดสินใจที่จะยกเลิก AGM ดังกล่าวไปก่อน เพื่อกลับมาทบทวนการทำดีล 3 บริษัทข้างต้นใหม่
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน คาดว่าหากมีความพร้อมก็จะนำเสนอต่อ AGM เพื่อพิจารณาในครั้งต่อไป โดยยืนยันว่ายังมีความสนใจในการเข้าซื้อบริษัทบรรจุภัณฑ์อยู่ เนื่องด้วยในระยะยาว BGC มีความต้องการเป็นผู้นำบรรจุภัณฑ์ แม้ขณะนี้จะมีธุรกิจพลังงานเข้ามาเสริม แต่สัดส่วนรายได้ในอนาคตยังต้องมาจากบรรจุภัณฑ์ประมาณ 90%
"คำถามส่วนใหญ่ที่เราได้รับ ไม่ได้อยู่ที่ว่าทำไมถึงจะซื้อบริษัทบรรจุภัณฑ์เพิ่มอีก 2 บริษัท แต่อยู่ที่ว่าทำไมเราจะซื้อบริษัท กบินทร์บุรีกล๊าส อินดัสทรี จำกัด (KBI) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำกระจกแผ่น เนื่องด้วยผู้ที่ติดตามคงจะเห็นว่าผลประกอบการของ KBI ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผลขาดทุนอยู่ และทำไมเราต้องเพิ่มทุนในการเข้าซื้อกิจการทั้ง 3 กิจการนี้
สาเหตุคือในช่วงที่ผ่านมาเราได้มีการว่าแผนการเติบโตในปี 63-68 ไว้ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2% สอดคล้องกับความต้องการ ทำให้เรามีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นเตาหลอมแก้วอีก 1 เตาในปี 65 ซึ่งเราก็พิจารณาดูว่ามีพื้นที่ไหนให้เราขึ้นเตาได้บ้าง จึงมี 2 ทางเลือก คือ ขึ้นเตาใหม่ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีเตาเลย หรือขึ้นเตาในพื้นที่ที่เรามีอาคารและมีเตาเก่าอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันเราก็มีพื้นที่ที่อยากจะขึ้นเตาใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับเตาเก่า คือ ที่ราชบุรี ซึ่งเป็นของบริษัทเรา และกบินทร์บุรี ซึ่งเป็นของบริษัทแม่ (BG) แต่เราเลือกบริษัทแม่ ด้วย Facility ที่สามารถแชร์กันได้ และยังอยู่ติดกับท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้เราสามารถควบคุมต้นทุนการขนส่งไปที่ท่าเรือในการส่งออกได้ จึงเป็นเหตุผลหลักที่เราเลือก"นายศิลปรัตน์ กล่าว
นายศิลปรัตน์ กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 64 เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถกลับไปเติบโตได้เหมือนในปี 62 ที่เติบโตเฉลี่ย 5-10% เป็นไปตามการเติบโตของธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วและธุรกิจพลังงาน ซึ่งยังไม่นับรวมธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเสริมในอนาคต ขณะที่วางงบลงทุนไว้หลักร้อยล้านบาท เพื่อใช้ในการอัพเกรดเทคโนโลยีและรองรับธุรกิจใหม่ๆ