"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (23-27 พ.ย.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (16-20 พ.ย.) SET Index ปิดที่ระดับ 1,389.34 จุด เพิ่มขึ้น 3.2% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 8% รองลงมา คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 7.2% และสุดท้ายคือกลุ่มยานยนต์ เพิ่มขึ้น 6.4%
แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะขานรับกับปัจจัยบวกจากแรงซื้อสนับสนุนของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติ แต่ด้วยความเสี่ยงของปัจจัยเรื่องการเมืองในประเทศที่ยังคงร้อนระอุ ภายหลังจากผลการประชุมรัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ส่งผลให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมเดินหน้านัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ขณะที่ทางฝากฝั่งของรัฐบาลเองก็พร้อมเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมในครั้งนี้เช่นกัน
นับเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในรอบสัปดาห์ แต่ด้วยบรรยากาศการลงทุนที่ยังคงอยู่ในทิศทางเชิงบวก ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างประเมินผลกระทบของการชุมนุม หากสถานการณ์ไม่ยกระดับความรุนแรงเกินกว่าการชุมนุมในครั้งที่ผ่านๆมา การปรับตัวลดลงของ SET Index อาจเป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้นและไม่น่าจะหลุดต่ำกว่าแนวรับสำคัญที่ 1,350 จุด พร้อมกับคาดหวังต่อแรงซื้อคืนผลักดันให้ SET Index มีลุ้นไต่ระดับทดสอบ 1,400 จุดได้อีกครั้ง
นายธวัชชัย อัศวพรไชย รองกรรมการผู้จัดการ บล.เอเอสแอล ประเมินภาพรวม SET Index รอบสัปดาห์นี้ยังคงคาดหวังต่อแรงซื้อของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติ และประเด็นบวกจากความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อการปรับตัวขึ้นของราคาสินทรัพย์เสี่ยง และแม้ว่าล่าสุดธนาคารแห่งประเทศจะออกมาตรการเพื่อมาสกัดการแข็งค่าเงินบาทด้วยการผ่อนคลายและเปิดเสรีการไหลออกของเงินทุนเพิ่มเติม แต่มองว่าช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้น หาก SET Index เกิดพักฐานจากแรงกดดันของปัจจัยการเมืองในประเทศ มองเป็นโอกาสครั้งใหม่ให้ผู้ลงทุนที่พลาดสะสมหุ้นในช่วงก่อนหน้านี้ได้เช่นกัน
"สัปดาห์นี้เรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์การชุมนุมจะเกิดอะไรขึ้น แต่หากใกล้เคียงกับรอบที่แล้ว น่าจะเห็นโอกาสดัชนีฯปรับตัวลงราว 10 จุด ทำให้หากดัชนีปรับตัวลดลงแนวรับ 1,350 จุดน่าจะรับอยู่....
ส่วนปัจจัยบวกไฟเซอร์ยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนดังกล่าวต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) หากเป็นไปตามแผนเดิมต้นเดือนธันวาคมน่าจะเห็นการฉีดวัคซีนให้กับชาวอเมริกัน ช่วยคลายความกังวลให้กับผู้ลงทุนที่วิตกต่อการแพร่ระบาดอย่างหนักระลอกใหม่ผลักดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และเป็นการยืนยันแนวโน้มการไหลเข้าของเม็ดเงินผู้ลงทุนต่างชาติที่เปิด Risk on กลับมาลงทุนตลาดหุ้นไทยชัดเจนอีกครั้งทำให้ดัชนีฯโอกาสปรับตัวขึ้นแตะ 1,400 จุดด้วยวอลุ่มที่คอยสนับสนุน"นายธวัชชัย ระบุ
บล.โนมูระ พัฒนสิน ออกบทวิเคราะห์ ระบุว่า MSCI Rebalance จะปรับน้ำหนัก 30 พ.ย.นี้ ตลาดหุ้นไทยถูกลดน้ำหนักใน MSCI EM Asia จาก 1.91% สู่ 1.87% คิดเป็นยอด Net trade ที่ -114 ล้าน โดยหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณใน MSCI Global Standard คือ DELTA (75ล้านเหรียญฯ), STGT (43ล้านเหรียญฯ) ส่วนหุ้นที่ออก ได้แก่ IRPC (-42ล้านเหรียญฯ), TMB (-38ล้านเหรียญฯ) และเพิ่มน้ำหนัก AWC และลดน้ำหนัก PTT, CPALL, AOT, SCC, ADVANC, BDMS, PTTEP, INTUCH ราว -18 ถึง -5 ล้านเหรียญฯต่อบริษัท ประเด็นนี้จะกดดันหุ้นไทยปลายเดือน พ.ย. นี้
ส่วนสำหรับ MSCI Global Small Cap หุ้นที่ถูกเข้าคำนวณ ได้แก่ BPP, ICHI, IRPC, JMART, M, TFG, TISCO, VGI, RBF ส่วนหุ้นที่ออก คือ STPI, THAI
ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกเดือน ต.ค. และสถานการณ์ทางการเมือง
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากPCE/Core PCE Price Index เดือนต.ค. จีดีพีไตรมาส 3/63 (ครั้งที่ 2) และบันทึกการประชุมเฟด (4-5 พ.ย.) นอกจากนี้ ตลาดยังรอจับตาสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ตลอดจนข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯและยูโรโซนด้วยเช่นกัน
"เงินบาทกลับมาแข็งค่า แม้แบงก์ชาติจะเพิ่มมาตรการดูแลเงินบาท โดยการเคลื่อนไหวเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆต้นสัปดาห์แตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 10 เดือนที่ 30.14 บาทต่อดอลลาร์ฯท่ามกลางแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติประกอบกับสกุลเงินเอเชียก็มีแรงหนุนจากการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ด้วยเช่นกัน"บทวิจัย ระบุ
https://youtu.be/C4BwYNPzXuQ