นางสาวพรรณพร ศาสนนันทน์ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า บริษัทประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 64 จะอยู่ที่ 44-49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 40-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยบวกมาจากคาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส น่าจะยังขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก จากปีนี้ได้ดำเนินการปรับลดกำลังการผลิตลง 7.7 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนส.ค.-ธ.ค.63 ส่งผลทำให้อุปทานในตลาดปรับตัวลดลง และช่วยตึงราคาน้ำมันไว้ ขณะเดียวกันความขัดแย้งของประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่ว่าจะเป็น อิหร่าน อิรัก เวเนซูเอลา ก็มีผลต่อราคาน้ำมันด้วย
อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาดูสภาวะเศรษฐกิจทั่วไป ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของโควิด-19 ว่าจะมีการล็อกดาวน์รอบที่ 2 และ 3 หรือไม่ รวมถึงการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิต เช่น ลิเบีย
ส่วนค่าการกลั่น (GRM) ของสิงคโปร์ ในปี 64 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาที่ 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากราว 0.2-1.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ หลังราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติก็คาดจะอยู่ที่ระดับ 4.8-5.3 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
ด้านสถานการณ์โอเลฟินส์ คาดว่าความต้องการใช้โอเลฟินส์ในปีหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่อย่างไรก็ตามก็มองว่ายังมีความกดดันในเรื่องของซัพพลายใหม่ ทั้งโพลีเอทิลีน (PE) และโพลีโพรพิลีน (PP) ที่เข้ามาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีนด้วย ทำให้ประเมินราคาโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) ในปี 64 จะปรับขึ้นราว 5-10% เมื่อเทียบกับปีนี้ ขณะที่ PP จะปรับตัวขึ้นน้อยกว่าหรือประมาณ 5%
ส่วนผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ คาดว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และจะมีอุปสงค์ปลายน้ำที่จะเข้ามาด้วยไม่ว่าจะเป็น PTA หรือ SM แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัจจัยกดดันอยู่ จากซัพพลายในประเทศจีนที่จะเข้ามาค่อนข้างสูง และระดับสินค้าคงคลังของจีนที่สูง ทำให้มองว่าราคาผลิตภัณฑ์เบนซีนจะเพิ่มขึ้นไม่มาก หรือไม่ถึง 10% และราคาพาไซลีน (PX) ก็น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีนี้
"ปีนี้เรามองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ค่อนข้างมีผลต่อราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดย IMF ได้มีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 63 จะหด 4.4% แต่ในปี 64 คาดจะปรับตัวดีขึ้นหรือเติบโตได้ 5.2% ขณะที่ของประเทศไทยมองว่า GDP ปีนี้จะหดตัวถึง 7.8% และปีหน้าจะกลับมาโตได้ 4% ส่งผลทำให้ในภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปีนี้ปรับตัวลดลงมาที่ 93 ล้านบาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก"นางสาวพรรณพร กล่าว
นางสาวพรรณพร กล่าวว่า สำหรับการลงทุนที่จะแล้วเสร็จในปี 64 และเพิ่มรายได้ให้กับ PTT ประกอบด้วย โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ภายในปี 64 และโครงการก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งใหม่ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรับ-จ่าย LNG อีก 7.5 ล้านตัน/ปี จากเดิมที่อยู่ระดับ 11.5 ล้านตัน/ปี โดยโครงการนี้คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 65