นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ปี 64 มีโอกาสปรับตัวขึ้นหากทิศทางเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว หลังค้นพบวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาดีลซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) โรงงานเม็ดพลาสติกขึ้นรูปในประเทศ 2-3 ราย จากเดิมที่บริษัทเป็นเพียงผู้ผลิตเม็ดพลาสติกขายให้เท่านั้น โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า
ขณะเดียวกัน แผนธุรกิจหลักของบริษัทยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty grade) ซึ่งตั้งเป้าจะมีสัดส่วนการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปัจจุบัน เป็น 21% ในปี 64 และเพิ่มเป็น 30% ภายในปี 67 โดยจะเน้นไปที่เม็ดพลาสติกเกรดที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ และเม็ดพลาสติกชนิดความหนาแน่นสูงและทนทานมากกว่าโพลีเอทิลีน (PE) ทั่วไป 10 เท่า หรือ UHMW-PE (Ultra High Molecular Weight Polyethylene) ที่นำไปใช้ในงานผลิตแผ่นกั้นแบตเตอรี่ (Battery separator) ข้อเข่าเทียม เชือกลากจูงเรือ เป็นต้น เพื่อสร้างความสมดุลของรายได้ รับมือกับความผันผวนทางธุรกิจในระยะยาว และการมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ ยังจะช่วยให้บริษัทมีมาร์จิ้นเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (24 พ.ย.) บริษัทเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติงบลงทุนในปี 64 โดยงบลงทุนหลักยังเป็นโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 (Euro V) และยังเตรียมใช้สำหรับการเข้าซื้อกิจการด้วย
ขณะที่วันนี้ (23 พ.ย.) บริษัทเปิดนวัตกรรรมติดตั้งทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขนาด 12.5 เมกะวัตต์ (MW) ในบ่อน้ำดิบสำรองของบริษัท บนพื้นที่ 200 ไร่ ในสวนโซลาร์ลอยน้ำ จ.ระยอง ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเสริมความมั่นคงให้กับเขตประกอบการอุตสาหกรรม IRPC จ.ระยอง ขณะที่ทุ่นลอยน้ำเป็น เม็ดพลาสติก HDPE อยู่ภายใต้แบรนด์ "POLIMAXX" ซึ่งช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ได้ถึง 5-8 องศา ส่งผลให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูง ทนต่อแสง UV และทนต่อแรงกระแทก โดยมีอายุการใช้งานของวัสดุนานถึง 25 ปี
ขณะเดียวกันก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 10,510 ตัน หรือเทียบเท่าการปลูกป่าราว 10,000 ต้น นอกจากนี้ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับน้ำ หรือ "แก้มลิง" ช่วยบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งในเขตอำเภอเมือง จ.ระยอง
นายนพดล กล่าวอีกว่า บริษัทมีแผนขยายการลงทุนธุรกิจติดตั้งทุ่นโซลาร์ลอยน้ำเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาขยายกำลังการผลิตติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำในพื้นที่เดิม รวมทั้งในพื้นที่ของ IRPC มีการขุดบ่อน้ำไว้ 5 บ่อ ติดตั้งไปแล้ว 3 บ่อ และยังเหลือพื้นที่อีก แต่การติดตั้งระยะต่อไปจะเป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะเดียวกันก็มีเอกชนสนใจติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำเช่นกัน ล่าสุดมีการเจรจากับเอกชนหลายรายเพื่อติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำในบ่อน้ำ เบื้องต้นมีโครงการขนาดใหญ่ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีหน้า
สำหรับแผนการตลาดธุรกิจมี 2 แนวทาง คือการจับมือกับกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) โดยเฉพาะ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่มีลูกค้าสนใจติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งบริษัทจะเน้นการผลิตทุ่นด้วยเม็ดพลาสติก HDPE ของ IRPC ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือการร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตทุ่นฯ ซึ่งจะนำเม็ดพลาสติก HDPE ของบริษัทไปขึ้นรูปเป็นทุ่นเพื่อติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีบ่อเก็บน้ำ และในโรงงานที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเต็มแล้ว เบื้องต้นเจรจาไว้ประมาณ 2 โครงการ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจก๊าซฯของ ปตท.ที่มีลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ อยู่แล้ว ก็อาจจะเข้าไปเสนอขายในลักษณะผู้ให้บริการ solution provider ที่เป็นการใช้บริการครอบคลุมทางธุรกิจตามความต้องการของลูกค้ามากกว่าการขายแค่ก๊าซฯเท่านั้น