นายบุญยกฤต เสาวรรณ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL) คาดว่า บริษัทจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 ในเมียนมา กำลังการผลิต 388 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 650 ล้านเหรียญสหรัฐ กับกระทรวงไฟฟ้าของเมียนมาในช่วงปลายไตรมาส 1/64 หรือ ต้นไตรมาส 2/64 หลังจากที่เมียนมาเลือกตั้งแล้วและจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ทั้งนี้ บริษัทจะได้รับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 ที่มีมูลค่างาน 15,000 ล้านบาท ทำให้งานในมือ (Backlog) เติบโตก้าวกระโดดเป็นกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมี backlog ราว 5,900 ล้านบาท โดยในครึ่งหลังของปี 64 จะมีกำหนดรับรู้รายได้จากงานโรงไฟฟ้า Ahlone ราว 3,000 ล้านบาท และใน backlog ยังมีโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ โครงการปิโตรคอมเพล็กซ์ของ Idemitsu ,โครงการปิโตรคอมเพล็กซ์ของบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ในเวียดนาม
ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมขายหุ้นโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 ออก 60% จากที่ถืออยู่ 100% ให้กับพันธมิตร ซึ่งจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นในปี 64 ด้วย
ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ TTCL กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างรอผลประมูลและเตรียมเข้าประมูลงานมูลค่ารวมกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับงานประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ที่เข้าประมูล โดยจำนวน 5 พันล้านบาทจะรู้ผลในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ คาดว่าน่าจะได้รับงานราว 2-3 พันล้านบาท ส่วนอีก 6 หมื่นล้านบาทจะเข้าประมูลและทยอยรู้ผลในปี 64-65
ดังนั้น บริษัทคาดว่าในปี 64 จะมีรายได้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิจะรักษาให้ใกล้เคียงปี 63 ที่ 14% และ 5% ตามลำดับ ขณะที่ปี 63 คาดว่าจะมีรายได้ 7 พันล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท เพราะบริษัทได้รับผลกระทบการระบาดโควิด-19 ทำให้งานต่าง ๆ ล่าช้าออกไป แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับน่าพอใจ เพราะบริษัทยังสามารถทำกำไรได้
ส่วนในไตรมาส 4/63 คาดว่าจะรับรู้รายได้ 1,800 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 3/63 ที่รับรู้รายได้ 1,500 ล้านบาท
นอกจากนั้น ในปีนี้บริษัทใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ที่สามารถนำสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่มีอยู่ 830 ล้านบาททยอยบันทึก 3 ปีหรือ 12 ไตรมาส เป็นไตรมาสละ 69 ล้านบาท ทำให้บริษัทไม่รับผลกระทบมากนัก ต่างจากปี 61-62 ที่บันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญถึง 1.3 พันล้านบาท และ 1.45 พันล้านบาท ตามลำดับ
นายบุญยกฤต กล่าวว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจจะขยายธุรกิจไปธุรกิจพลังงาน จากเดิมที่มีธุรกิจหลักจากงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) เพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกิจ EPC ที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ โดยตั้งเป้าในปี 68 จะมีรายได้จากธุรกิจพลังงาน 50% ซึ่งมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่บริษัทเข้าไปลงทุน 30% และอีก 15% มาจากธุรกิจ Black Pellet ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอัดเม็ดกึ่งไม้กึ่งถ่านที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
ส่วนอีก 50% เป็นธุรกิจ EPC ที่สัดส่วน 25% มาจากงานรับเหมาก่อสร้างจากรายอื่น และอีก 25% มาจากโครงการที่บริษัทลงทุนเอง เช่น โรงไฟฟ้า โรงงานผลิต Black Pellet
สำหรับธุรกิจ Black Pellet เริ่มจากบริษัทได้เข้าซื้อเทคโนโลยี Black Pellet จาก Black Wood ซึ่ง TTCL เข้าซื้อกิจการ 100% เป็นเจ้าของเทคโนโลยี โดย Black Pellet ผลิตจาก White Pellet เชื้อเพลิงอัดแท่ง ที่นำไม้กระถิน ไม้ยางพารา หรือวัสดุทางการเกษตารมาผลิตและนำมาเผาไหม้จนมีค่าพลังงานความร้อนใกล้เคียงถ่านหิน และสามารถเก็บไว้นอกอาคารเช่นเดียวกับถ่านหินได้ โดยสามารถนำไปผสมใช้ร่วมกับถ่านหินในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งญี่ปุ่นต้องการลดการใช้ถ่านหินจึงมักนำ Black Pellet ผสมกับถ่านหิน 30-50% ขณะเดียวกัน Idemitsu บริษัทขนาดใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่นได้เข้าร่วมทุนราว 5%
บริษัทได้วางแผนจะเพิ่มกำลังการผลิต Black Pellet ที่ 2 ล้านตันจำนวน 21-25 โรงงานภายในปี 68 หรือ 20% ของความต้องการตลาดในญี่ปุ่นที่คาดมี 10 ล้านตัน ที่มาจากภาครัฐญี่ปุ่นมีนโยบายให้หยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบดั้งเดิมที่มีอยู่กว่า 100 โรง โดยมีเป้าหมายในปี 2030 ไม่มีการใช้ถ่านหินในญี่ปุ่น ขณะที่ภาคเอกชนขนาดใหญ่ได้รวมตัวเป็นกลุ่ม RE 100 ที่ร่วมมือเพื่อมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น กูเกิล อาดิดาส แอปเปิ้ล อาซาฮี อายิโนะโมโตะ เป็นต้น โดยบริษัทจะแบ่งขายหุ้นส่วนในธุรกิจนี้สุดท้าย TTCL จะลดสัดส่วนถือหุ้น 25%
ปัจจุบัน TTCL มีโรงงานผลิต Black Pellet ที่ จ.สุราษฏร์ธานี กำลังการผลิต 15,000 ตัน/ปี ซึ่งเริ่มเดินเครื่องผลิตเมื่อ เม.ย.62 ที่เตรียมส่งออกไปญี่ปุ่น โดยมีผู้ซื้อ 10 รายให้ความสนใจ และยังมีโรงงานผลิต Black Pellet ที่ดานังในเวียดนาม กำลังการผลิต 15,000 ตัน เริ่มเดินเครื่องผลิตเมื่อ ก.ย.63 และอีกโรงในพื้นที่เดียวกันในเวียดนาม กำลังการผลิต 7.5 หมื่นตัน คาดว่าเดินเครื่องได้ปี 64
ดังนั้น ในปี 64 บริษัทคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิต Black Pellet อย่างน้อย 3 แสนตัน ได้แก่ ในไทย จำนวน 1 แสนตัน ในลาว 75,000 ตัน เวียดนาม 75,000 ตัน เวียดนาม 75,000 ตัน อินโดนีเซีย 75,000 ตัน โดยขณะนี้มีผู้สนใจ 3 รายจากญี่ปุ่นขอเจรจาเข้าร่วมทุนด้วย
การดำเนินธุรกิจ Black Pellet ทำให้บริษัทสามารถมีรายได้จากจากค่าลิขสิทธิจากสิทธิบัตรเทคโนโลยีของ Black wood รายได้จากงาน EPC โรงงาน รายได้จากการบริหารและซ่อมบำรุงโรงงาน และ รายได้จากการขายหุ้นหรือเงินลงทุน