นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน ไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเพิ่มเครื่องบินจากบริษัทแม่ 3 ลำเข้ามาทำการบินในประเทศในปี 64 และจะทยอยรับมอบให้ครบ 30 ลำเท่าเดิมภายในระยะ 5 ปีขึ้นไป หลังจากได้หยุดทำการบินไปในช่วงโควิดทำให้บริษัทตัดสินใจคืนการเช่าเครื่องบินออกไป 19 ลำให้กับกลุ่มไลอ้อนแอร์ตั้งแต่เดือน มี.ค.63 เพื่อลดภาระค่าเช่าที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักลงกว่า 50%
ขณะนี้บริษัทได้ขอเพิ่มเครื่องบินจากกลุ่มไลอ้อนแอร์แล้ว หลังจากเห็นความต้องการเดินทางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยจะเน้นการเพิ่มความถี่เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท โดยปัจจุบันมีเครื่องบิน 11 ลำ อัตราการใช้เครื่องบิน 9-10 ชั่วโมง/วัน จากเดิม 30 ลำ
นายอัศวิน กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมการบินในประเทศดีขึ้น โดยอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในไตรมาส 4/63 เฉลี่ยอยู่ที่ 80-85% และคาดว่าในไตรมาส 1/64 ยังมีโมเมมตัมที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งการฟื้นตัวมีมาตั้งแต่ไตรมาส 3/63 ที่มี Cabin Factor ระดับ 70-75% หลังจากบริษัทกลับมาทำการบินในประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ค.63 ขณะนี้ได้ทำการบินครบทั้ง 13 เส้นทางแล้ว แต่ยังไม่เท่าเดิมก่อนเกิดโควิด จากนี้คาดว่าจะเพิ่มความถี่ในบางเส้นทางที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น อาทิ เชียงใหม่ มี 4-5 เที่ยวบิน/วัน จากเดิม 8-9 เที่ยวบิน/วัน เนื่องจากเส้นทางนี้มี Cabin Factor ถึง 90%
ส่วนในปีหน้าบริษัทคาดหวังรัฐบาลจะเปิดประเทศมากขึ้น โดยมีแผนทยอยนำเครื่องเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งตารางเวลาคงขึ้นกับสถานการณ์ เพราะเข้าใจว่าหากรัฐบาลจะเปิดประเทศได้ก็คงต้องพิจารณาหลายปัจจัย เพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ค่อยๆ ทยอยเปิดประเทศไปแล้ว และในช่วงตรุษจีนต้นปีหน้ารัฐบาลมีแผนนำนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาแต่อาจจะเป็นจำนวนไม่มากนัก
สำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 รายได้ของไทยไลอ้อนแอร์ปรับตัวลดลงกว่า 50-60% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ทำให้ความต้องการเดินทางลดน้อยลง โดยบริษัทได้หยุดทำการบินทั้งในและต่างประเทศในเดือน เม.ย.63 จากนั้นในเดือน พ.ค.63 กลับมาบินบางเส้นทางในประเทศ ส่วนต่างประเทศยังหยุดทำการบิน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ไทยไลอ้อนแอร์มีสัดส่วนรายได้จากในประเทศและต่างประเทศ 50:50
นายอัศวิน กล่าวยอมรับว่าในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.63 เป็นช่วงยากลำบากที่สุด แต่รายได้เริ่มผงกหัวขึ้นมาแล้วหลังกลับมาทำการบินในประเทศ ขณะเดียวกันบริษัทก็ยังเน้นควบคุมรายจ่ายเพื่อให้สัมพันธ์กับรายได้
ทั้งนี้ กลุ่มสายการบินยังอยู่ในภาวะลำบากและต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล โดยเฉพาะการให้เงินกู้ซอฟต์โลนที่กลุ่มสายการบินเรียกร้อง เพราะหากไม่มีการช่วยเหลือจากรัฐบาล อาจจะเห็นสายการบินทยอยปิดตัวลงไปอีก แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้เรียกผู้ประกอบการสายการบินเข้าไปพูดคุยเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ไทยไลอ้อนแอร์เองก็ต้องการซอฟต์โลนเป็นหลักพันล้านบาทเพื่อดูแลพนักงาน ขณะที่ทางรัฐบาลก็เคยบอกว่าจะดำเนินการซอฟท์โลนในเดือน ต.ค.แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
นายอิศวิน กล่าวอีกว่า อย่างน้อยรัฐบาลน่าจะเข้ามาช่วยดูแลภาคแรงงานของกลุ่มสายการบิน ซึ่งไทยไลอ้อนแอร์ก็ยอมรับว่าปรับลดพนักงานตามจำนวนเครื่องบินหลักพันคนแล้ว บางส่วนอยู่ในรูปแบบ Leave without Pay โดยความสมัครใจ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ลากยาวออกไป บางคนก็ตัดสินใจลาออก ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ต้องการให้สายการบินเอาคนออก
พร้อมย้ำว่าการได้ซอฟต์โลนจะเข้ามาช่วยกระแสเงินสด (Cash Flow) ให้ธุรกิจมีสภาพคล่อง แม้ว่าที่ผ่านมาหลายหน่วยงาน อาทิ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่มีมาตรการช่วยเหลือสายการบิน, กรมสรรพสามิตปรับลดภาษีน้ำมัน ขณะที่โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่เป็นมาตรการของรัฐ สายการบินได้ประโยชน์น้อยกว่าโรงแรมหรือที่พัก โดยผู้ใช้สิทธิต้องออกเงินออกไปก่อน หรือบางโครงการดีแต่สายการบินเข้าร่วมไม่ได้เช่น โครงการคนละครึ่ง
"เราพยายามทำตามนโยบายรัฐบาลพยายามไม่ลดพนักงาน แต่ว่าหลังจากที่เราลดจำนวนเครื่องบินก็มีลดลง รัฐบาลก็ยังไม่ได้พูดคุยเรื่องซอฟท์โลน แต่หลังๆ ให้พนักงานทำด้วยความสมัครใจ หรือ Leave without Pay อย่างนักบินเราก็ไม่ได้ปลด เนื่องจากสถานการณ์ยาวเกินไป ส่วนหนึ่งลาออกไปก็มีเยอะ เพราะเขามีรายได้อื่นที่ดีกว่า นโยบายรัฐบาลเขาก็ไม่อยากให้พนักงานลาออก แต่ที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะช่วยเมื่อเดือนตุลาคมแต่ตอนนี้ก็ยังไม่เห็น "นายอัศวิน กล่าว
นายอัศวิน กล่าวว่า ในเชิงธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งรัฐบาลควรจะออกมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ด้วย เพราะเห็นว่าในปีหน้านักท่องเที่ยวต่างชาติก็คงยังไม่ได้มาก็ต้องอาศัยการกระตุ้นในประเทศตามโครงการต่างๆ ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เที่ยวบินในประเทศ ของสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ได้แก่ เชียงใหม่ , เชียงราย , พิษณุโลก , ขอนแก่น , อุดรธานี, อุบลราชธานี , กระบี่ , ตรัง ,หาดใหญ่ , สุราษฎร์ธานี , นครศรีธรรมราช , ภูเก็ต , เส้นทางบินข้ามภูมิภาค เชียงใหม่ ? อู่ตะเภา , อุดรธานี - หาดใหญ่