ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) หรือ PRISM Expert ได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 64 ฟื้นตัวจากที่หดตัวในปีนี้ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในปีหน้าจะผลักดันให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเติบโตขึ้นด้วย ซึ่งกรณีที่ดีสุดคาดว่าเศรษฐกิจโลกฟื้น 5.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 45-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่กรณีต่ำสุดคาดว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นเพียง 3.4% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายเมธา วีระโอฬารกุล พนักงานการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายการค้าอนุพันธ์ ปตท. กล่าวว่า ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเคลื่อนไหวสอดคล้องในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก ในปีนี้หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจโลกหดตัวลงหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้ลดลงราว 9% เฉพาะในเดือน เม.ย.ที่ลดลงไปมากสุดเป็นประวัติการณ์ ราว 20% แต่ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาเกือบเท่าระดับเดิมแล้ว โดยเฉพาะในภาคการขับขี่ ส่วนภาคการบิน นับว่าผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเพิ่งกลับฟื้นขึ้นมาราวครึ่งหนึ่งจากที่ปรับตัวลง
อย่างไรก็ตาม จากความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศ ก็จะผลักดันให้เศรษฐกิจโลกในปี 64 ฟื้นตัวขึ้นได้ โดยมองกรณีดีสุด (BASE CASE) ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลก เติบโต 5.2% ก็จะผลักดันให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 5.3 ล้านบาร์เรล/วัน แต่หากกรณีต่ำสุด (LOW CASE) ที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตได้เพียง 3.4% ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน
ด้านนายคณิน บดีพัฒน์ นักวางแผนกลยุทธ์ฝ่ายแผนกลยุทธ์ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันในปี 64 ยังต้องจับตาการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ว่าจะลดกำลังการผลิตตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ และจับตาปริมาณการผลิตของกลุ่มนอนโอเปก อย่างสหรัฐ ว่าจะมีทิศทางอย่างไร
ทั้งนี้ ในกรณี BASE CASE ที่ความต้องการใช้น้ำมัน เพิ่มขึ้น 5.3 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ปริมาณการผลิตเป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะทำให้มีปริมาณการผลิตเข้ามาในระดับกลาง หรือเพิ่มขึ้นราว 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน ก็จะทำให้สมดุล คือ ความต้องการใช้น้ำมันสุทธิเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 45-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 63
กรณี LOW CASE ที่ความต้องการใช้น้ำมัน เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ปริมาณการผลิตไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีการผลิตเพิ่มเข้ามาสู่ตลาด ส่งผลให้คาดการณ์ปริมาณผลิตเพิ่มขึ้นราว 5.7 ล้านบาร์เรล/วัน ก็จะทำให้สมดุล คือมีปริมาณการผลิตส่วนเกิน 4.4 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายภาณุพงศ์ ปั้นลี้ นักวิเคราะห์การพาณิชย์ ฝ่ายการวางแผนพาณิชย์ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทบไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสายการบินและภาคการผลิต ตลอดจนภาคบริการที่ต้องล็อกดาวน์ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินผลกระทบภาพรวมครั้งนี้อาจจะมีมูลค่าสูงถึง 9-12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 12% ของ GDP โลก
แต่จากการที่ทุกฝ่ายมีการปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ ทั้งในส่วนของการรับมือของประเทศ ที่ทั่วโลกต่างออกมาตรทางการเงินและการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ,การรับมือของภาคอุตสาหกรรมและประชาชน ที่ปรับตัวหันใช้เทคโนโลยีเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ตลอดจนการหันมาพึ่งพิงเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น และการควบคุมการแพร่ระบาดของหลายประเทศ ทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้แน่ในปี 64 ซึ่งหากทำได้ดีเศรษฐกิจก็อาจจะฟื้นตัวในรูปแบบของ NIKE Shape แต่หากทำไม่ได้ดี ก็อาจจะฟื้นตัวในรูปแบบ L Shape
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64 มีโอกาสเติบโตในระดับ 3.5-4.5% ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินไว้ หลังจากที่เศรษฐกิจไทยติดลบในปีนี้ โดยการฟื้นตัวอาจจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจจะเห็นในกลุ่มระดับกลางและระดับบน ส่วนเอสเอ็มอี อาจไม่ได้ฟื้นตัวเร็วมากนัก ซึ่งตัวขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวยังเป็นภาคการส่งออก ขณะเดียวกันยังต้องดูแลการบริโภคภายในประเทศ และหวังว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 64
ทั้งนี้ มองปัจจัยความเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจและเป็นปัจจัยที่ต้องระวังในปี 64 ได้แก่ R.E.S.T. ประกอบด้วย Reshuffle ความชัตเจนในการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ , Exchange Rate เงินบาทมีโอกาสพลิกอ่อนค่า จะช่วยพยุงผู้ส่งออก แต่หากเงินบาทยังแข็งค่าแรงมาก ๆ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโตอย่างที่คาด แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูแลค่าเงินบาทให้อย่างน้อยเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค
Second Wave การดูแลไม่ให้เชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดรอบสอง ซึ่งกลางปีหน้ามีการนำวัคซีนออกมาใช้ ก็เชื่อว่าจะทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด และ Trade War โดยเชื่อว่าการส่งออกจะดีขึ้นถ้าเกิด Trade deal โดยเห็นว่าไทยควรดำเนินยุทธศาตร์ที่เรียกว่า "เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ" ที่เป็นการเปิดรับทั้ง 2 ด้าน
ด้านศักยภาพเศรษฐกิจไทยทำให้เห็นโอกาสการเดินหน้าใน 4 อ. ประกอบด้วย อาหาร ซึ่งไทยนับเป็นครัวของโลก ก็เป็นโอกาสของภาคเศรษฐกิจไทย , อายุ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย ,อาเซียน การดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ รวมถึงการการขยายการผลิตและส่งออกไปยังอาเซียน ตลอดจนโอกาสย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามาในอาเซียน จากปัญหาของสงครามการค้า และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะยังคงอยู่ระดับต่ำ ก็เป็นโอกาสในการขยายลงทุน