บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ(ROJANA) เตรียมลงทุน 500 ล้านบาท พัฒนาที่ดิน 1.8 พันไร่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะใน จ.อยุธยา เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาเพิ่มขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากการสนับสนุนโครงการผลิตรถยนต์ประเภทอีโคคาร์
คาดรายได้ในปี 51-52 ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการรับรู้รายได้โครงการคอนโดมิเนียมในฉางโจวของจีนที่คาดว่ามียอดขายทั้งโครงการ 3 พันล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาทดแทนรายได้จากโครงการเมดิสันที่จะรับรู้ฯในปีนี้เป็นปีสุดท้ายว่า 800 ล้านบาท
พร้อมทั้งมีแผนเพิ่มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าอีก 55 เมกะวัตต์ จาก 210 เมกะวัตต์ คาดจะแล้วเสร็จช่วงปลายไตรมาส 3/51 หรืออย่างช้าไตรมาส 4/51 ช่วยให้บริษัทมีรายได้จากสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นและลดความเสี่ยงได้
*เชื่ออีโคคาร์ช่วยดันยอดขายพื้นที่นิคมฯ
น.ส.อมรา เจริญกิจวัฒนกุล กรรมการ ROJANA กล่าวว่า จากปีนี้ที่ภาครัฐให้การส่งเสริมโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงาน(อีโคคาร์)โดยให้ผู้สนใจลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้นในช่วงดังกล่าวก็น่าจะทำให้เห็นภาพแนวโน้มยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมชัดเจนมากขึ้น ทั้งจากค่ายรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ล่าสุดกลุ่มฮอนด้า ซึ่งเป็นลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาทยอยซื้อที่ดินเพิ่มเป็นกว่า 600 ไร่แล้ว ขณะที่ประกาศลงทุนในไทยเพิ่มอีก 6.2 พันล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในพื้นที่เดียวกับโรงงานปัจจุบัน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2.4 แสนคัน/ปี
ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมโรจนะในจ.อยุธยา มีที่ดินเปล่าที่ยังไม่พัฒนาประมาณ 3 พันไร่ และเหลือที่ดินพร้อมขายประมาณ 100 ไร่ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่ จ.ระยอง มีที่ดินพร้อมขายอยู่ประมาณ 400 ไร่
"ปีหน้า movement ของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นจะเริ่มประกาศขยายกิจการทั้งกลุ่มยานยนต์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เรายังมีโอกาสทำการตลาดมากขึ้น เชื่อว่าพื้นที่พัฒนาใหม่จะขายในช่วง 1-2 ปีที่จะทยอยโอนเข้ามา"น.ส.อมรา กล่าว
น.ส.อมรา คาดว่า ยอดขายพื้นที่นิคมฯ จะดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 50 เมื่อการเมืองมีความชัดเจนขึ้น หลังจากที่ไตรมาส 2/50 ยอดขายชะลอตัว อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายที่ดินในปีนี้ไว้ที่ 500 ไร่ และรายได้ขายที่ดิน 1.7 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มียอดขาย 600 ไร่ โดยครึ่งแรกของปีนี้ขายไปได้แล้ว 300 ไร่ และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
ครึ่งแรกปี 50 ROJANA ประกาศรายได้รวมที่ 3,489 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.13% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 629 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.26% โดยยอดขายที่ดินนิคมฯอยู่ที่ 784 ล้านบาท ลดลง 9.99% แต่รายได้ส่วนอื่นเติบโต โดยไตรมาส 2/50 มียอดขายชะลอลงจากไตรมาส 1/50 จากปัจจัยทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา
"ลูกค้าของ ROJANA ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นในสัดส่วน 60-70% คิดว่าในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น หลังมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน ก็น่าจะโอเค บรรยากาศการลงทุนน่าจะดีขึ้น เราจะขายที่ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ" น.ส.อมรา กล่าว
*โครงการคอนโดฯในจีนสร้างความต่อเนื่องรายได้อสังหาฯ
น.ส.อมรา มั่นใจว่า ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะสร้างรายได้ให้บริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 51-52 จะรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียม 54 ชั้น 900 ยูนิตในเมืองฉางโจว มูลค่า 3,000 ล้านบาทที่ดำเนินการโดย Rojana Property ซึ่ง ROJANA ถือครองหุ้นอยู่ 100% และได้รับสิทธิการเช่า 70 ปี
ทั้งนี้ บริษัทจะใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 300 ล้านบาท ที่เหลือจะนำเงินจากการขายโครงการมาใช้ในการก่อสร้าง โดยตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นของโครงการดังกล่าวที่ 35%
"จุดขายโครงการนี้ อยู่ในจุด landmark ของเมือง ตอนที่ทำ presale ได้รับการตอบที่ดี คนจีนที่นั่นพฤติกิรรมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก...การได้โครงการนี้ในจีนก็จะเป็นโอกาสต่อไป" น.ส.อมรา กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ในปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากโครงการเมดิสันเป็นปีสุดท้าย จำนวนกว่า 800 ล้านบาท จากยอดขายทั้งโครงการ 2 พันล้านบาท และยังไม่มีแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพิ่มเติมในขณะนี้ โดยต้องขึ้นอยู่กับจังหวะที่จะเข้าซื้อที่ในทำเลที่ดี แต่ก็ไม่ได้ปิดตัวเองว่าในอนาคตจะไม่ทำต่อไปจะไม่ทำต่อไป
*ธุรกิจไฟฟ้าหนุนกำไรช่วยจ่ายปันผลสม่ำเสมอ
นางอัมรา กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายขยายการลงทุนธุรกิจด้านผลิตไฟฟ้า เนื่องจากทำรายได้ในสัดส่วนที่สูงกว่าธุรกิจขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรม แม้ว่าอัตรากำไรจะต่ำกว่า โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาทในปี 51 เพื่อขยายโรงไฟฟ้าเพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีก 55 เมกะวัตต์ จากเดิม 210 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนรวม 2 พันล้านบาท หลังจากปีนี้ได้ลงทุนไปแล้ว 1 พันล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายไตรมาส 3/51 หรืออย่างช้าภายในสิ้นปี 51
"ธุรกิจขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมก็ยังเป็น core business เป็นหลัก ส่วนไฟฟ้าขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า แต่ตั้งแต่เรา run โรงไฟฟ้าทำให้ธุรกิจจ่ายเงินปันผลได้ทุกปี เพราะลูกค้าในนิคมในไฟฟ้ากันมาก ทำให้เราสามารถจ่ายเงินปันผลได้ปีละ 2 ครั้งใน 2 ปีที่ผ่านมา" น.ส.อมรา กล่าว
ทั้งนี้ กำไรจากยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมยังเป็นหลักอยู่ในสัดส่วน 40% ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 20% ขณะที่สัดส่วนกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าอยู่ที่ 30% และที่เหลือมากจาการลงทุนใน บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) และอื่นๆ แม้ว่ารายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะสูงกว่าธุรกิจขายที่ดิน
ส่วนการลงทุนใน TICON ทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนทั้งแง่รูปเงินกำไรและเงินปันผล โดย TICON ทำโรงงานให้เช่าบนที่ดินของ ROJANA ซึ่งเอื้อต่อธุรกิจของ ROJANA อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะเพิ่มการลงทุนใน TICON แต่ขึ้นอยู่กับโอกาส ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นใน TICON 22% จากเดิมถืออยู่ 17%
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--