นายชาตรี จันทรงาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายควบคุมการเงิน และ บริหารความเสี่ยง บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยว่าถึงภาพรวมสินเชื่อของธนาคารทิสโก้ในปี 64 คาดกลับมาเติบโตได้เล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการของสินเชื่อรายใหญ่ที่กลับมากู้เงินจากสถาบันทางการเงินมากขึ้น หลังจากความเชื่อมั่นใจหุ้นกู้ลดลง
ส่วนในปีนี้ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมายังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดยสินเชื่อของธนาคารหดตัวไป -7.4% โดยพอร์ตสินเชื่อของธนาคารแบ่งเป็น สินเชื่อรายย่อย 79.3% ประกอบด้วย สินเชื่อเช่าซื้อ 57.3% สินเชื่อทะเบียนรถ Auto Cash 15.5% สินเชื่อบ้าน 6.5% ส่วนสินเชื่อรายใหญ่ 16.1%, สินเชื่อเอสเอ็มอี 3.6% และ อื่นๆ 1% ขณะที่พอร์ตสินเชื่อคงค้างมีมูลค่า 224,900 ล้านบาท
นายชาตรี กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 64 ประเมินว่าจะฟื้นตัวในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเชื่อว่ายังต้องใช้เวลากว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวมาเท่ากับช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น ธนาคารจะคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังเนื่องจากความไม่แน่นอนยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.36% และจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4/63 ไปจนถึงไตรมาส 1/64 ซึ่งจะเป็นไตรมาสที่ NPL เพิ่มขึ้นสูงสุด โดยได้รับผลกระทบหลักจากการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รัลผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แม้ว่าเฟสแรกลูกหนี้จะกลับมาชำระได้มากกว่า 90% ก็ตาม แต่ก็ยังมีลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระได้ ส่งผลให้ธนาคารยังคงตั้งสำรองในระดับสูงต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมาจะทยอยตั้งสำรองสูงมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม
"เราคาดว่า NPL จะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.63% หรือมีเม็ดเงิน 5,918 ล้านบาท ซึ่งหากเพิ่มมา 1% ก็ขึ้นมาอยู่ที่ 3.63% ระดับสำรองที่เรามีอยู่คาดว่าจะเพียงพอ Coverage ratio อยู่ที่ 196.1% เพิ่มขึ้นจากต้นปี 63 ที่อยู่ 183.7% โดยหาก NPL เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด เราก็อาจต้องปรับเปลี่ยนการตั้งสำรองใหม่ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น"นายชาตรี กล่าว