PODCAST: Weekly Highlight (30 พ.ย.-4 ธ.ค.) เดาทางตลาดหุ้นไทยกับปมร้อนบ้านพัก "บิ๊กตู่"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 30, 2020 10:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (30 พ.ย.-4 ธ.ค.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (23-27 พ.ย.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,437.78 จุด เพิ่มขึ้น 3.49% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 18.39% รองลงมาคือกลุ่มพลังงาน เพิ่มขึ้น 5.98% และสุดท้ายคือกลุ่มปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 4.92%

สำหรับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีฯสามารถพลิกกลับมายืนเหนือ 1,400 จุดอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ท่ามกลางปัจจัยสนับสนุนจากแรงซื้อสุทธิของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติที่ปรับพอร์ตกระจายเม็ดเงินเข้ามาในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลเชิงสถิติของนักวิเคราะห์ที่พบว่าตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนมาถึงปัจจุบันกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 13,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (MTD) ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติเช่นกัน ด้วยมูลค่าซื้อสุทธิมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท สูงสุดรอบ 10 ปี 2 เดือน

แม้ว่าระยะสั้นความเชื่อมั่นผู้ลงทุนจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ อาจเป็นตัวแปรเชิงลบบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะประเด็นร้อนที่นักวิเคราะห์ต่างเฝ้าระวัง คือ กรณีศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมนัดลงมติวินิจฉัยคดีบ้านพักหลวงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมในวันพุธที่ 2 ธันวาคมนี้ ว่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การพ้นสภาพจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือไม่ ??

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินภาพรวมของ SET INDEX ในสัปดาห์นี้ คงต้องขึ้นอยู่ตัวแปรผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยเบื้องต้นประเมินผลกระทบไว้ 2 กรณีคือหากสถานการณ์การเมืองในประเทศไม่มีเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวดัชนีฯแกว่งตัวในกรอบแนวต้าน 1,450-1,470 จุด และวางกรอบแนวรับสำคัญที่ 1,400 จุด แต่ในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีโอกาสสูงที่ตลาดหุ้นไทยจะเผชิญกับแรงขายระลอกใหม่ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ต้องติดตามผลของศาลฯในวันที่ 2 ธ.ค.จะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แต่กรณีเลวร้ายเกิดผลต้องนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมองเป็นลบกับตลาดหุ้นไทย ผู้ลงทุนมองว่าจะเกิดเป็นสูญญากาศทางการเมืองอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ก็มองเป็นแค่ผลกระทบบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้น คงต้องติดตามต่อว่ามีใครเข้ามาแทน ซึ่งกรณีหากมาแทนแต่ชื่อชั้นไม่ได้เป็นที่ยอมรับหรือเรียกความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน น่าจะกระทบบรรยากาศเชิงลบเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่ยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์คาดเดายาก คงต้องรอมาวิเคราะห์กันอีกครั้งเมื่อสถานการณ์มีความชัดเจนแล้ว

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ MSCI Rebalance จะปรับน้ำหนัก 30 พ.ย.นี้ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า MSCI Rebalance รอบนี้ตลาดหุ้นไทยถูกลดน้ำหนักใน MSCI EM Asia จาก 1.91% สู่ 1.87% คิดเป็นยอด Net trade ที่ -114 ล้าน โดยหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณใน MSCI Global Standard คือ DELTA (75ล้านเหรียญฯ), STGT(43ล้านเหรียญฯ)

ส่วนหุ้นที่ออก ได้แก่ IRPC(-42ล้านเหรียญฯ), TMB(-38ล้านเหรียญฯ) และเพิ่มน้ำหนัก AWC และลดน้ำหนัก PTT, CPALL, AOT, SCC, ADVANC, BDMS, PTTEP, INTUCH ราว -18 ถึง -5 ล้านเหรียญฯต่อบริษัท ประเด็นนี้จะกดดันหุ้นไทยปลายเดือน พ.ย. 2020 ผันผวน ส่วนสำหรับ MSCI Global Small Cap หุ้นที่ถูกเข้าคำนวณ ได้แก่ BPP, ICHI, IRPC, JMART, M, TFG, TISCO, VGI, RBF ส่วนหุ้นที่ออก คือ STPI, THAI

ด้าน SET50/100 Rebalance สำหรับงวดครึ่งปีแรกของปี 2564 คาดหุ้นที่จะเข้าคำนวณใน SET50 ได้แก่ DELTA, BAM, COM7 ขณะที่หุ้นที่คาดจะหลุด SET50 คือ BPP, IRPC, WHA ส่วนสำหรับ SET100 หุ้นที่คาดเข้า ได้แก่ DELTA, BAM, MBK, JMART ขณะที่หุ้นที่คาดหลุด SET100 คือ AAV, PSH, SGP, SIRI คาดตลาดจะประกาศอย่างเป็นทางการกลางเดือน ธ.ค. 2563 และมีผลเริ่มใช้ 1 ม.ค. 2564

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (30 พ.ย.-4 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอยู่ที่ถ้อยแถลงของประธานเฟด การตอบรับของตลาดต่อทีมเศรษฐกิจใหม่ของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สถานการณ์โควิด-19 โลก และข้อมูล PMI เดือนพ.ย. ของจีนและยูโรโซน ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนต.ค. อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และปัจจัยทางการเมืองของไทย

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนี PMI และดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนพ.ย. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือน ต.ค. และรายงาน Beige Book ของเฟด

"สัปดาห์ที่แล้วเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย แต่การเคลื่อนไหวในภาพรวมยังเป็นกรอบแคบๆตลอดสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามปัจจัยและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รวมถึงสัญญาณการเข้าดูแลค่าเงินบาทของทางการนอกจากนี้กระแสเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรไทยมีสัญญาณชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงหลายสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ดีเงินบาทเริ่มแข็งค่ากลับมาตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาครับข่าวดีเรื่องการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ขณะที่เงินดอลลาร์ฯเผชิญแรงขายหลังข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด"บทวิจัย ระบุ

https://youtu.be/ModXJvbDIGQ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ