แหล่งข่าวจากบมจ.ชินแซทเทลไลท์ (SATTEL) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ในช่วงครึ่งหลังปีนี้(2550)บริษัทฯคาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น เนื่องจากในไตรมาส 3/50 บริษัทฯจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้น บริษัท เชนนิงตัน อินเวสท์เมนท์ ไพรเวท ลิมิเต็ด (Shenington) เข้ามา ประกอบกับบริษัทฯได้มีการคืนเงินกู้บางส่วนแล้ว ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลง
ส่วนไตรมาส 4/50 ก็มีลุ้นยอดขายจากการทำตลาดที่ประเทศอินเดียมาช่วยได้บ้าง
"รายได้ของบริษัทฯในปีนี้คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะไทยคม 1, 2, 5 มียอดขายที่ stable อยู่แล้ว ส่วน iPSTAR ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นผลประกอบการโดยรวมน่าจะดีกว่าปีก่อน ในที่นี้หมายถึงเฉพาะ operation นะ ไม่เกี่ยวกับ FX gain เพราะเชื่อว่าปีนี้ FX gain ของบริษัทฯจะได้รับน้อยลง เพราะรัฐฯคงจะไม่ปล่อยให้เงินบาทแข็งค่ามาก"แหล่งข่าวจาก SATTEL กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2/50 บริษัทและบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 83.11 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.08 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 33.98 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.03 บาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก FX ที่น้อยกว่าไตรมาสก่อน(Q1/50)
ส่วน 6 เดือนแรกของปีนี้ SATTEL กำไร 51.77 ล้านบาท จากขาดทุน 92.18 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
SATTEL มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 2/50 จำนวน 213 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/50 ที่มีจำนวน 461 ล้านบาท
สำหรับดาวเทียมไทยคม 6 คงจะต้องชะลอการสร้างไปก่อน เพราะ capacity ของบริษัทฯตอนนี้ก็ยังเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของลูกค้าได้ โดยบริษัทฯมีไทยคม 1, 2, 5 และ iPSTAR
"ณ ตอนนี้ยังมี capacity ของดาวเทียมแต่ละดวงเหลืออยู่ จึงยังไม่รีบสร้างไทยคม 6"แหล่งข่าว จาก SATTEL กล่าว
*คาด Q4/50 เริ่มมียอดขายเข้ามาจากตลาดอินเดีย
แหล่งข่าวจาก SATTEL กล่าวต่อว่า การทำตลาดอุปกรณ์รับสัญญาณ iPSTAR ในประเทศอินเดียน่าจะได้ผลเร็วกว่าประเทศจีน เพราะจะส่วนใหญ่เป็นงานในโครงการของรัฐฯ แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดตั้งเกตเวย์ 2 แห่งที่นิวเดลีและบอมเบย์ ซึ่งจะต้องรอให้เกตเวย์เรียบร้อยก่อน คิดว่าสิ้นไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะมีความคืบหน้าในการเจรจาและการให้บริการ
"ดีลที่ประเทศอินเดียอาจจะได้ดีลเร็วกว่าที่ประเทศจีน ซึ่งอินเดียเข้าใจว่าจนกว่าจีน เพราะฉะนั้นที่อินเดียจึงน่าจะออกมาในรูปแบบเป็นโครงการของรัฐฯ และออกมาเป็นล็อต ๆ "แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า การเจรจาในอินเดีย แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ฝ่าย SATTEL รัฐบาลอินเดีย และ เทลโก้ ซึ่งเป็นผู้ดูแล demand-Supply และมีความต้องการใช้อยู่ในมือแล้ว เมื่อใดที่การจัดตั้งเกตเวย์แล้วเสร็จและพร้อมให้บริการ ก็จะสั่งซื้อเข้ามาได้ทันที เพราะผู้ที่มีความต้องการใช้บริการก็จะมาแจ้งกับเทลโก้
"อินเดียจะเล่นเทคโนโลยีพอสมควร และทางเทลโก้ก็มีไม่พอแล้วในตอบสนองความต้องการ ดังนั้นเขาก็เลยมา need ของเรา แต่ตอนนี้เรายังไม่ผ่านในเรื่องไลเซ่นส์ของภาครัฐฯ ซึ่งเมื่อไรที่ operate ได้แล้ว มันก็จะหลุดจากราชการมาได้หน่อยหนึ่ง ก็น่าจะทำตลาดเร็วขึ้น ซึ่งไตรมาส 4/50 น่าจะเห็นความคืบหน้าของยอดขาย ส่วนไตรมาส 3 น่าจะเป็นการติดตั้งเกย์เวย์ได้แล้วเสร็จ"แหล่งข่าว จาก SATTEL กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า การทำตลาดในแต่ละประเทศมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน ปัจจุบันตลาดในออสเตรเลียจะเป็นตลาดหลักของบริษัทฯ หลังจากที่ไม่มีออเดอร์จาก TOT โดยไตรมาส 2/50 บริษัทมียอดขายอุปกรณ์ไอพีสตาร์ (iPSTAR User Terminal: UT)ทำได้ 10,000 เศษชุด โดยสามารถทำยอดขายได้ 3,000 ชุด/เดือน และได้ติดตั้ง UT ไปได้ประมาณ 30,000 ชุดแล้ว
"เป็นเพราะออสเตรเลียมีภาครัฐที่ให้การสนับสนุนด้ว คือให้เงินช่วยเหลือในพื้นที่ห่างไกลระบบของรัฐเข้าไม่ถึง คือใช้ ดีเอสแอล ไม่ได้ ส่วนนิวซีแลนด์เราก็ทำได้ดี เพราะชาวไร่ของเขาเป็นชาวไร่ที่รวย มีฟาร์มกว้างหลายเอเคอร์ ห่างไกลกัน เขาก็ใช้บริการของเราเช่นกัน"แหล่งข่าวจาก SATTEL กล่าว
ส่วนการทำตลาดที่ประเทศจีนจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง โดยขณะนี้บริษัทฯกำลังดูช่องทางการจำหน่ายอยู่ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะต้องหันไปเน้นทาง Retail ไปก่อน เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความคุ้นเคย และให้ตลาดตอบรับมากขึ้น คาดว่าช่วงไตรมาส 4/50 น่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้นว่าตลาดจะออกมาในแนวไหน
"จริง ๆ เราก็จะรอโครงการของรัฐเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็แต่เราก็อยากให้เขาคุ้นเคย แล้วจะได้กระตุ้นตัว Demand ขึ้นมาด้วย แต่ถ้าทำ retail ไปด้วยเราก็ไม่ต้องรอ project ของรัฐฯเพียงอย่างเดียว ซึ่งในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ก็คาดว่าจะเห็นผลว่าตลาดจะเป็นยังไง ออกมาในแนวไหน" แหล่งข่าวจาก SATTEL กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทฯก็ได้ทำเกตเวย์ในประเทศจีนเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายปี 2549 ที่กวางโจว เซี่ยงไฮ้ และ ปักกิ่ง
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--