นางสาวพันทิตา แซ่เอ็ง รองกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาติ ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญของ บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หรือ SAK เปิดเผยว่า ในช่วงเปิดจองซื้อหุ้น IPO ของ SAK ระหว่างวันที่ 26-27 และ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจเข้ามาจองซื้อเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ SAK มีสัดส่วนการถือหุ้นทั้งนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อยที่ดี สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จากศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อย และโอกาสการเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ มั่นใจว่า SAK จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนที่ดีอย่างต่อเนื่องในวันที่เข้าซื้อขายเป็นวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งกำหนดในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 หลังจาก SAK เสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 546 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 26 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นครั้งนี้ กำหนดราคา IPO หุ้นละ 3.70 บาท คิดเป็นอัตรา P/E ปัจจุบันประมาณ 15.4 เท่า (เทียบกับบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจที่ใกล้เคียงกันที่ 20.1-26.0 เท่า) โดยมีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 6 ราย ประกอบด้วย บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน), บล.กสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บล.กรุงไทย ซิมิโก้ จำกัด, บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน), บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด และบล.ฟิลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หรือ SAK ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลังการเข้าซื้อขายในตลาดฯ ด้วยการดำเนินธุรกิจและแผนงานการเติบโตที่มีความชัดเจนของบริษัท ฯ
ทั้งนี้ SAK มีเป้าหมายสร้างการเติบโตในทุกมิติ โดยตั้งเป้าปี 2566 พอร์ตสินเชื่อจะขยายตัวเพิ่มเป็น 12,000 ล้านบาท จากแผนการขยายสาขาและการนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและยกระดับการให้บริการปล่อยสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว โดยช่วยวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึก การเสนอสินเชื่อ พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ จัดทำสัญญา รับชำระหนี้ บริหารหนี้สูญ ได้แบบเรียลไทม์ ผ่าน Mobile Application และใช้เป็นเครื่องมือควบคุมความเสี่ยงเรื่องคุณภาพของสินเชื่ออีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ จะขยายสาขาเพิ่มเป็น 1,119 สาขา จากเดิมมี 519 สาขา (ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) หรือเฉลี่ยปีละ 200 สาขา ด้วยโมเดลพื้นที่สาขาขนาดเล็กในจังหวัดเดิมและเพิ่มจังหวัดใหม่ๆ ที่ยังไม่มีสาขาของ SAK พร้อมบริหารจัดการแบบ Cluster ช่วยบริหารจัดการต้นทุนของ SAK ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการสินเชื่อของประชาชน
"วันนี้เราพร้อมรุกขยายธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดในทุกมิติ เพื่อผลักดันให้ SAK ก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำให้บริการสินเชื่อระดับชาติ จากฐานทุนที่แข็งแกร่ง และจากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงทีมพนักงานที่มีความเข้าใจลูกค้า ทำให้ SAK เข้าไปช่วยเหลือประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนประกอบอาชีพได้ดียิ่งขึ้น และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย" นายศิวพงศ์ กล่าว