BEC คาดปี 64 พลิกมีกำไร-วางเป้ารายได้โต 2 หลัก อัดละคร-ข่าว-วาไรตี้ลงจอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 3, 2020 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) คาดว่า ในปี 64 บริษัทจะกลับมามีกำไรจากปี 63 ที่คาดว่าจะยังขาดทุน แม้ว่าจะเห็นกำไรในไตรมาส 3/63 และรายได้ก็มากขึ้น และคาดไตรมาส 4/63 ก็มีกำไรต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าบริษัทได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 ที่มีการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และการชะลอใช้งบโฆษณา

ขณะที่บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 64 เติบโตตัวเลข 2 หลัก โดยจะเน้นผลิตคอนเทนท์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะละคร เป็นอันดับแรก ซึ่งจะผลิต 30-40 เรื่อง/ปี รองลงมาเป็น รายการข่าว และวาไรตี้ ทั้งนี้ ช่อง 3 ได้เปรียบที่มีผู้จัดละครจำนวนมาก มีดาราชั้นนำมากมาย ผู้จัดรายการวาไรตี้ก็ยังมีหลายราย

นอกจากนั้น บริษัทคาดว่ารายได้จาก New Media และ Global Licensing หรือการขายลิขสิทธิละครไปต่างประเทศ จะมีมากขึ้นในปี 64 โดยคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มเป็นสูงกว่า 25% จากปีนี้ทึ่มีสัดส่วนราย 20% ขณะที่รายได้จากช่อง 3 ที่เคยมีสัดส่วน 80% ก็จะลดสัดส่วนลงไป

"ในอนาคตข้างหน้าเราจะโฟกัสมากขึ้น ในปี 64 ผมว่ารายได้จะมาจากออฟไลน์ ออนไลน์ Global Content Licensing ละครของเราที่ไปต่างประเทศจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ก็หวังว่าธุรกิจทีวีจะเติบโตได้เพราะ content ที่ดี ธุรกิจเราไม่ได้จับจ้องแต่ธุรกิจน้ำสายเดียวแล้ว เรามี Streaming Revenue เป็นสายที่ 2 สายที่ 3"นายสรินทร์ กล่าว

"ผมว่าเราผ่านจุดต่ำสุดแล้ว อย่างน้อยไตรมาส 3/63 ก็มีกำไร รายได้เราเพิ่มขึ้น โมเมนตัมมันดี ช่อง 3 เป็นบริษัทที่ Listed อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งที่ผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องมีคือความเชื่อมั่น ไม่ใช่สิ่งที่ผมพูด แต่คือผลประกอบการที่โชว์ให้กับเขา...เศรษฐกิจยังไม่ดี ผมคิดว่าเราอยู่ในธุรกิจขาลง คนลดงบโฆษณาไม่ได้หมายความว่าเลิกใช้แต่เขาเลือกใช้ ทำอย่างไรให้เขาไม่ตัดเรา เราก็จะได้งบโฆษณาที่เหมือนเดิมหรืออาจจะดีขึ้นด้วยซ้ำ เขาจะไม่ตัดเราเพราะคอนเท้นท์เราดีกว่าที่อื่น ...ในไตรมาส 4 โมเมมตัมกลับคืนมาและส่งไปถึงปีหน้า"นายสุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 64 มองว่าปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจดีขึ้นได้แก่ สถานการณ์การระบาดโควิดดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้นจากที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และ การเมืองมีเสถียรภาพ

นายสุรินทร์ ย้ำว่าบริษัทอยู่ในธุรกิจคอนเท้นท์ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ที่จะคงคุณภาพ แม้ว่าอาจจะต้องลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นโดยลดในสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่จะให้ความสำคัญกับละคร หลังจากได้พิสูจน์มาแล้วว่าละครของช่อง 3 ได้รับความนิยมและสามารถขายลิขสิทธิ์ไปยังต่างประเทศได้ประสบความสำเร็จ ล่าสุดเรื่องที่เพิ่งจบไปคือ "ร้อยเล่ห์มารยา"ที่ออกฉายพร้อมกัน 10 ประเทศ ดังนั้น ในปี 64 ยังทำละครที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถทำกำไรได้มากขึ้นจากการทำละครครั้งเดียวแต่สามารถนำไปเผยแพร่ได้หลายช่องทาง จากในอดีตที่เคยออกอากาศผ่านช่อง 3 เท่านั้น ทำให้ต้นทุนลดลง

ขณะที่รายการข่าวก็จะกลับมาให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่นำเสนอข่าวหน้าจอ การปรับการนำเสนอหรือวิธีการนำเสนอข่าว ซึ่งในไตรมาส 1/64 จะเห็นชัดเจนมากขึ้น และหากต้องเสริมทีมงานข่าวก็จะทำ ส่วนรายการวาไรตี้จะมีการหารือกับผู้จัดชุดเดิมมากขึ้น โดยเฉพาะรายการที่ได้รับความนิยม อย่าง รายการศึก 12 ราศี, 3 แซ่บ, ตีท้ายครัว เป็นต้น

นายสุรินทร์ กล่าวว่า ในปีหน้าอาจจะมีการดูทีวีน้อยลง เพราะที่ผ่านมาผู้ชมดูรายการทีวีผ่านหลายช่องทาง ทั้งมือถือ ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นละคร ข่าว ทำให้บริษัทสามารถเผยแพร่รายการได้หลายช่องทาง ซึ่งปีหน้าจะโฟกัส Single Content Multi Plaform ทำให้เกิดธุรกิจ New Media ซึ่งบริษัทได้เปิดตัว 3+ ซึ่งเป็น Platform ใหม่ของบริษัทที่สามารถดูแบบเรียลไทม์หรือ On demand และยังนำละครช่อง 3 ดูผ่าน LineTV, True ID ทั้งนี้บริษัทมีข้อได้เปรียบที่มีละครของตัวเองเป็นพันเรื่องหลายหมื่นชั่วโมงที่สามารถนำออกมาฉายซ้ำได้หลากหลาย

"ผมมองว่า หากมีคอนเท้นท์ที่ดีจะพาไปหาแพลตฟอร์มได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม BEC เป็นองค์กรใหญ่ก็ยากที่จะทำให้ไม่ง่ายที่ทุกคนจะเข้าใจและหลายอย่างเป็นปัญหา ซึ่งปัญหาหลัก เราต้องมีคอนเท้นท์ที่ดี ซึ่งก็ต้องมีบุคคลากรที่ดีผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการทำละคร ทำข่าวทำวาไรตึ้"

ขณะเดียวกันมองว่า Global Streaming เช่น Nefflix, AppleTV , LineTV มีแนวโน้มจะมีมากขึ้น หากเข้ามาขยายในไทย ก็ย่อมจะต้องเข้าใจความต้องการของคนไทย ซึ่ง BEC มองเป็นโอกาสจับมือกับกลุ่ม Global Streaming ที่เป็นพันธมิตรธุรกิจด้วยกัน

นายสุรินทร์ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีเรื่องการแข่งขัน ภาวะเศรษฐกิจ ความหลากหลายของช่องทีวี เช่น ช่องข่าว ทำให้งบโฆษณากระจายไปยังที่ต่างๆ และยอมรับว่าคนที่มีอำนาจงบโฆษณาเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ทำให้กดดันการใช้จ่ายเงินในอุตสาหกรรมโฆษณา รวมทั้งการโยกการใช้เงินสื่อโฆษณาจากออฟไลน์ไปออนไลน์ แม้ว่าธุรกิจของบริษัทจะอิงกับอุตสาหกรรมโฆษณา แต่บริษัทมีคอนเท้นท์ที่ดีเชื่อว่าจะไม่ชะลอตัวตามอุตสาหกรรมโฆษณาที่ประเมินกันว่าจะหดตัวต่อเนื่องถึงปี 66 โดยในปีนี้ภาพรวมลดลงถึง 40%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ