"ทริส"คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ THAI ที่ “A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 2, 2007 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัดประกาศยืนยันผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. การบินไทย (THAI) และหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทที่ระดับ “AA-" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" 
โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำในธุรกิจการบินระหว่างประเทศในเส้นทางที่บินเข้าและออกจากกรุงเทพฯ และการได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิก Star Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงการมีสถานภาพเป็นสายการบินแห่งชาติและมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสายการบิน ตลอดจนความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นและภาระหนี้สินของบริษัทที่ค่อนข้างสูง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจการบินระหว่างประเทศเอาไว้ได้ รวมทั้งคาดว่าการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะยังคงดำเนินต่อไปโดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบาก แม้ว่าความต้องการเดินทางทางอากาศในระยะยาวจะยังคงดีอยู่ แต่ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้
แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความต้องการเงินลงทุนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าของบริษัทด้วย โดยบริษัทจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากลำบากยิ่งขึ้นทั้งในด้านการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงและต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ผลการดำเนินงานของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการเพิ่มรายได้ ความสำเร็จในการลดต้นทุน และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
ทริสเรทติ้งรายงานว่าบริษัทการบินไทยถือเป็นสายการบินแห่งชาติของไทยและเป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซีย ปัจจุบันรัฐบาลไทยถือหุ้นโดยตรงในบริษัทในสัดส่วน 54% โดยลดลงจาก 79% ในปี 2546 หลังจากบริษัทขายหุ้นให้แก่ประชาชนจำนวน 285 ล้านหุ้นในปี 2546 บริษัทยังมีกองทุนวายุภักษ์ซึ่งจัดตั้งโดยกระทรวงการคลังเพื่อลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญในสัดส่วน 18% แม้ว่ารัฐบาลได้ลดการถือหุ้นลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่จะคงสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทให้ไม่ต่ำกว่า 51% ในฐานะรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ บริษัทได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน อาทิ การให้เงินกู้ยืมเฉพาะกาล (Bridge Loan) และการช่วยหาแหล่งเงินทุน
ทริสเรทติ้ง กล่าวว่า บริษัทการบินไทยได้รับประโยชน์จากการมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในเส้นทางการบินระหว่างประเทศมาเป็นเวลานานด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 39% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติของไทย แม้ส่วนแบ่งทางการตลาดดังกล่าวของบริษัทในปี 2549 จะลดลงจาก 45% ในปี 2546 แต่ก็ยังคงสูงกว่าสายการบินอันดับสองอย่างมาก
ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในเส้นทางการบินระหว่างประเทศจากฐานในประเทศซึ่งได้แก่ท่าอากาศยานนานาชาติของไทยเอาไว้ได้ แม้บริษัทจะยังคงสิทธิในการบินและลงจอดในท่าอากาศยานทั้งภายในและต่างประเทศ แต่การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินปกติซึ่งกำลังขยายเส้นทางการบินและเพิ่มฝูงบินจะท้าทายสถานะทางการตลาดของบริษัท
บริษัทการบินไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง Star Alliance อาทิ การขยายเครือข่ายบริการที่ครอบคลุมและกว้างขวางยิ่งขึ้นผ่านระบบ Code Sharing กับสายการบินพันธมิตรซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินทางกับสายการบินอื่นของพันธมิตรในเส้นทางที่สายการบินนั้นๆ ยังไม่เปิดบริการ การได้รับสิทธิ์ใช้ตราสัญลักษณ์ Star Alliance ทั่วโลก การใช้โปรแกรมบินประจำ (Frequent Flyer Program) รวมถึงการร่วมกิจกรรมทางการตลาดและการประหยัดต้นทุน เป็นต้น
ปัจจุบันบริษัทให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ณ สนามบินปลายทาง 63 แห่ง ด้วยเที่ยวบินจำนวนกว่า 555 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ทั่วโลก การใช้ระบบ Code Sharing ภายในกลุ่ม Star Alliance จะทำให้บริษัทสามารถให้บริการในท่าอากาศยานปลายทางระหว่างประเทศได้มากกว่า 155 แห่ง
สำหรับธุรกิจการบินภายในประเทศ ปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมากภายหลังจากที่สายการบินต้นทุนต่ำเริ่มให้บริการ ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงเหลือ 39% ในปี 2549 จาก 85% ในปี 2546 ในขณะที่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 7.2 ล้านคนมาเป็น 14 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการบินภายในประเทศสร้างรายได้ให้แก่บริษัทเพียง 7% เนื่องจากบริษัทเน้นธุรกิจการบินระหว่างประเทศเป็นหลัก บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะเพิ่มกำไรโดยการลดจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศของบริษัทซึ่งมีผลดำเนินงานขาดทุนและให้สายการบินนกแอร์เป็นผู้ดำเนินการแทน โดยสายการบินต้นทุนต่ำจะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต่างออกไปและมีส่วนน้อยที่ซ้ำซ้อนกับของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเที่ยวบินที่มีระยะเวลาบินน้อยกว่า 3 ชั่วโมง
ทริสเรทติ้งกล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทการบินไทยเริ่มได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นและต้นทุนในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนด้านเชื้อเพลิงและแรงงาน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 25% ในปี 2547 เป็น 16% ในระหว่างปี 2548-2549
ในด้านฐานะสภาพคล่องทางการเงินนั้นบริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ลดลงตั้งแต่ในรอบบัญชีปี 2548 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทได้ฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 23% ในช่วงครึ่งแรกของรอบบัญชีปี 2550 (ตุลาคม 2549-มีนาคม 2550) เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงชั่วคราว แม้ว่าบริษัทจะประสบผลสำเร็จในการคงอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2550 แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยหลักที่อาจจะกระทบต่อผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทได้
บริษัทมีแผนในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการขยายฝูงบินโดยเพิ่มจำนวนเครื่องบินอีก 14 ลำระหว่างปี 2550-2554 อย่างไรก็ตาม การขยายฝูงบินจำเป็นจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากการกู้ยืมเพิ่มเติม ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนในการกู้ยืมของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ