นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 จะดีกว่าในปี 2563 เนื่องจากบริษัทสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้สูงขึ้นหลังจากการติดตั้งหม้อต้มน้ำเพิ่มเติมแล้วเสร็จในปี 2563
ส่วนผลประกอบการในไตรมาส 4/63 แม้ว่าโรงงานปูนของบมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าของบริษัท จะปิดเพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพนั้น ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกำไรมากนัก เนื่องจากรายได้และกำไรส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากการขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยในไตรมาส 3/63 บริษัทมีรายได้จากโรงไฟฟ้ารวม 2,877.7 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จาก กฟผ. 2,239.4 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 78% รายได้จาก TPIPL จำนวน 629.8 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 22% และอื่น ๆ 8.5 ล้านบาทไม่ถึง 1%
ขณะที่ในไตรมาส 3/63 บริษัทบันทึกกำไรสุทธิจากโรงไฟฟ้า (ก่อนรวมอัตราแลกเปลี่ยน) อยู่ที่ 1221.5 ล้านบาท แบ่งเป็น กำไรจาก กฟผ.คิดเป็นประมาณ 95.5% กำไรจาก TPIPL คิดเป็นประมาณ 4.5% และอื่น ๆ ไม่ถึง 1%
"ปี 64 เราจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอีกเนื่องมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ตามที่บริษัทได้เคยสัญญามาตลอดในปีที่แล้วว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถือเป็นการเติบโตในระยะสั้นของพวกเรา ซึ่งปีหน้าจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่ต้นปี นอกจากนี้การเติบโตในระยะกลาง หรือการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะต่างๆ และการเติบโตในระยะยาว เรื่องโครงการ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" หรือ Giga Project ก็มีความคืบหน้ามาตลอดตามลำดับ"นายภัคพล กล่าว
นายภัคพล กล่าวอีกว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 64-66 ทางบริษัทจะเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะในจังหวัดต่าง ๆ ตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้ติดตามความคืบหน้า 12 โครงการรวม 143 เมกะวัตต์ (MW) โดยมี 2 โครงการที่มีความชัดเจนแล้วคือ โครงการในจังหวัดสงขลา ปริมาณ 8 เมกะวัตต์หรือมากกว่านั้น โครงการในจังหวัดนครราชสีมา ปริมาณ 9.9 เมกะวัตต์ โดยในทั้งสองโครงการคาดว่าจะได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงปี 66
ส่วนโครงการในจังหวัดสระบุรี ปริมาณ 40 เมกะวัตต์นั้น ทางบริษัทคาดว่าจะ COD ได้ช่วงต้นปี 65 และสำหรับ 9 โครงการที่เหลืออยู่ ยังต้องรอความชัดเจนจากทางภาครัฐภายในปี 64 ทั้งหมด
ปัจจุบัน TPIPP มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับทาง กฟผ.อยู่ 3 สัญญา รวม 163 เมกะวัตต์ และในปี 65-66 จะมีการ COD โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะเพิ่มเติม
โครงการทั้งหมดยังไม่ได้รวมการพัฒนาโครงการ ?เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต? ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 อนุมัติให้ตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 3,700 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้า 1,700 เมกะวัตต์จากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ 2,000 เมกะวัตต์ จากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เสนอตามนโยบายของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งจะเริ่มทำรายได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า