นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยเช้านี้น่าจะดีดตัวขึ้นได้ หลังจากที่ยังไม่เห็นภาพการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้เชื่อว่าธปท.จะยังไม่มีมาตรการควบคุมค่าเงินบาทแข็งออกมา ซึ่งก็น่าจะหนุนให้ทิศทาง Fund Flow ยังไหลเข้าต่อเนื่อง แม้จะเห็นแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติออกมาติดต่อกันในระดับกว่า 2 พันล้านบาท/วันในช่วง 2 วันที่ผ่านมาก็ตาม
อย่างไรก็ตาม Sentiment ของตลาดยังมีทิศทางที่ดี จากความคืบหน้าของวัคซีนต้านโควิด-19 ที่เริ่มฉีดให้กับประชาชนในสหรัฐและอังกฤษแล้ว ทำให้คาดหวังเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นลำดับต่อไป ขณะที่ทิศทาง Fund Flow ที่ยังไหลเข้าทำให้ภาพการปรับฐานของตลาดในช่วงที่ผ่านมาไม่น่าจะมีอะไรมากนัก และบรรยากาศการลงทุนของตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวลงเล็กน้อย ก็ไม่น่าจะมีนัยต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก
พร้อมให้แนวรับที่ 1,460 จุด และแนวต้านที่ 1,500 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (14 ธ.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,861.55 จุด ลดลง 184.82 จุด (-0.62%) ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,647.49 จุด ลดลง 15.97 จุด (-0.44%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,440.04 จุด เพิ่มขึ้น 62.17 จุด (+0.50%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 2.54 จุด, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 49.33 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 29.41 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 4.72 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 1.45 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 4.96 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 1.2 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (14 ธ.ค.63) 1,476.13 จุด ลดลง 6.54 จุด (-0.44%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,956.27 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.63
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค.64 ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (14 ธ.ค.63) ปิดที่ 46.99 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 42 เซนต์ หรือ 0.9%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (14 ธ.ค.63) อยู่ที่ 0.71 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 30.08/10 แนวโน้มเคลื่อนไหวกรอบแคบ จับตาประชุมเฟด-ความชัดเจน Brexit
- โบรกเกอร์ ประสานเสียงเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้า ดันดัชนีแตะ 1,600 จุดต้นปีหน้า "กิมเอ็ง" ชี้ 5 ปัจจัยหนุนหุ้นพุ่ง "กสิกรไทย" เตือนรอบนี้เงินร้อน หวั่นแรงขายทำกำไร "หยวนต้า" เผยหุ้นไทยครึ่งปีแรก 64 ฟื้นตามเศรษฐกิจ ด้าน "เอเซีย พลัส" เน้นน้ำหนักลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง เหตุผลตอบแทนสูงเกิน 4% ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิด 3 แนวทางขับเคลื่อนตลาดทุนไทยปรับตัวสู่ยุคใหม่หลังโควิดหวังเป็นแหล่งระดมทุนและหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- กระทรวงพลังงาน จัดเวิร์กชอประดมสมอง ทำแผนพลังงานชาติ รวมทุกแผนไว้ในแผนเดียว หลังโควิด-19 ทำทุกสถานการณ์เปลี่ยน จ่อปักหมุดไทยจะเป็นสังคมไร้คาร์บอน เตือนทุกฝ่ายเตรียมพร้อม อีวีและพลังงานหมุนเวียนมาแน่ สศช.หนุน ปตท. ดึงลงทุนด้านพลังงานเข้าไทย ย้ำ 5-10 ปี อีวีเกิดเต็มรูปแบบ พร้อมเตือน 3 การไฟฟ้า สายส่ง โรงกลั่น ไบโอดีเซล เอทานอล ปรับตัวก่อนวิกฤติ ส.อ.ท.ชงรัฐตั้งกองทุนพลังงาน 2 ล้านล้านบาท
- กระทรวงการคลังเตรียมความพร้อมเปิดโครงการ "คนละครึ่ง" เฟส 2 วันที่ 16 ธ.ค.นี้ ตั้งแต่ 6 โมงเช้า-5 ทุ่ม จนกว่าจะครบ 5 ล้านสิทธิ เผยล่าสุดร้านค้าเข้าร่วมแล้วเฉียด 1 ล้านราย เงินสะพัดกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท ประเมินคนละครึ่ง-เงินผ่านบัตรคนจน-เราเที่ยวด้วยกัน ช่วยอัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 6 หมื่นล้านบาท หนุนจีดีพีไตรมาส 1/64 เพิ่ม 0.2% เล็งปรับลดเป้าจีดีพีปี 64 ใหม่จากเดิมคาดโต 4.5% หลังคาดปีนี้โตเกินคาด
- นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 หรือมอเตอร์เอ็กซ์โป เปิดเผยว่า ยอดจองรถระหว่างวันที่ 1-13 ธ.ค. หรือ 13 วัน มีจำนวน 38,699 คัน แบ่งเป็นรถยนต์มียอดจองรวม 33,753 คัน โดยมี 5 อันดับแรก คือ โตโยต้า 5,445 คัน, ฮอนด้า 4,508 คัน, มาสด้า 4,018 คัน, อีซูซุ 3,076 คัน และ นิสสัน 2,666 คัน
- ธปท. รายงานผลการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) โดยที่ประชุมเห็นว่าระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ โดยธนาคารพาณิชย์และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ขณะที่ตลาดการเงินมีเสถียรภาพ แต่มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินบางด้านสูงขึ้น เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจโดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เป็นจุดเปราะบางสำคัญ ที่อาจส่งผ่านความเสี่ยงไปยังภาคส่วนอื่นได้ เช่น คุณภาพสินเชื่อ และความเสี่ยงจากการต่ออายุตราสารหนี้เอกชน พร้อมให้สถาบันการเงินรายงานตัวเลขลูกหนี้เอสเอ็มอีว่ามีศักยภาพกลับมาจ่ายหนี้จำนวนเท่าใด และต้องการความช่วยเหลืออีกเท่าใด โดยให้รายงานมายังธปท.ภายใน 31 ธ.ค.63
*หุ้นเด่นวันนี้
- BAM (เคจีไอฯ) แนะ "เก็งกำไร" ให้ราคาพื้นฐาน 28 บาท ประเมินวัฏจักรธุรกิจบริหารหนี้เสียพ้นจุดต่ำสุดโดย Q4/63 คาดจะเป็นช่วงของการเข้าซื้อสะสมหนี้เสียเพื่อการบริหาร และปี 2564 คาดราคาขายสินทรัพย์จะเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งการตั้งสำรองมีโอกาสลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยฝ่ายวิจัยฯ คาดกำไรปี 2564 จะฟื้นตัว +32% YoY ด้าน Valuation ไม่แพงประเมิน PE ปี 63 เพียง 13 เท่า Dividend yield 3.5% ขณะที่ประเมินแนวรับ 22.6 บาท แนวต้าน 23.6 บาท และถัดไป 24.5 บาท โดยมี Stop loss 21.9 บาท
- BCH (ฟินันเซีย ไซรัส) แนะ"ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 20 บาท มองแนวโน้มกำไร Q4/63 ยังแข็งแรงต่อเนื่องจากรายได้เงินสดที่ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและ High Season ที่มาช้าในปีนี้ ส่วนรายได้ประกันสังคมยังคงแข็งแกร่งเป็น นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากบริการ ASQ และ HQ ขณะที่กำไร Q3/63 ที่ดีกว่าคาด ทำให้ประเมินกำไรปี 63 มี Upside 3-5% จากปัจจุบันที่คาด +6% Y-Y ส่วนปี 64 คาดโตในอัตราเร่ง +12% Y-Y รวมถึงได้ประโยชน์จากวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาใช้บริการในระยะถัดไป
- BJC (คิงส์ฟอร์ด) แนะ"ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 42 บาท มีมุมมองบวกต่อผลประกอบการในอนาคต โดยธุรกิจ Healthcare & Technical Supply Chain รับแรงหนุนจากงบประมาณปี 64 (คำสั่งซื้ออุปกรณ์การแพทย์/ยา) ธุรกิจ Packaging Supply Chain รับประโยชน์เทศกาลเฉลิมฉลอง ขณะที่มี Pent Up demand จากงานต่างๆที่เลื่อนมาจาก Q2/63 เช่น งานแต่งงาน เป็นต้น ด้านธุรกิจ Consumer Supply Chain ยังดีต่อเนื่องจาก New Normal ใช้ทิชชู่และเจลล้างมือเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจ Modern Retail Supply Chain รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค และยังชอบ mini Big C เติบโตตามจำนวนสาขาอย่างต่อเนื่อง(ปัจจุบันมี 1,153 สาขา) ประมาณกำไรสุทธิปี 63 ที่ 4,816 ล้านบาท (-33.84%YoY) ก่อนกลับสู่ปกติที่ 7,128 ล้านบาท(+48.01%YoY) ในปี 64