ตลท.เผยงวด 6 เดือนปี 50 บจ.มีกำไรรวม 2.29 แสนลบ.ลดลง 17%จากปีก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday August 18, 2007 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัทจดทะเบียนประกาศผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี มีผลกำไรรวม 229,403 ล้านบาทลดลงร้อยละ 17 จากงวดเดียวกันของปีก่อน  โดยมียอดขายรวม 2,864,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากงวดเดียวกันของปีก่อน  บริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ PTT, SCC, PTTEP, TOP และ BBL 
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนประจำงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 469 บริษัท ที่นำส่งงบการเงินจากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 492 บริษัท รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิรวม 229,403 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 47,674 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 17 โดยมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 367 บริษัท และขาดทุนสุทธิ 102 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 78 ต่อ 22 ในขณะที่ผลการดำเนินงานโดยรวมในงวดไตรมาส 2 ปี 2550 มีกำไรสุทธิ 114,578 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุหลักมาจากต้นทุนขายเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39)
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณายอดขายรวมงวด 6 เดือน ปี 2550 เท่ากับ 2,864,809 ล้านบาท เพิ่มร้อยละ 5 จากงวดเดียวกันของปีก่อน
สำหรับบริษัทที่มีมูลค่ากำไรสุทธิรวมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group ) ที่มีผลดำเนินงานเรียงตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุด ดังนี้ กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่ มีกำไรสุทธิ 105,452 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8 และยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น แต่มีต้นทุนขายเพิ่มขึ้น
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วย หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิ 41,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากงวดเดียวกันของปีก่อน
และกลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิรวม 26,742 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 48 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 20,970 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 54 โดยมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของ ธปท. เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39)
กลุ่มบริการ ประกอบด้วย หมวดพาณิชย์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดบริการเฉพาะกิจ และหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ มีกำไรสุทธิ 23,872 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23 โดยยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยหมวดที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 5. กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ มีกำไรสุทธิ 17,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7
กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วย หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไรสุทธิ 11,663 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 46 อย่างไรก็ตาม หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีกำไรสุทธิสูงขึ้นร้อยละ 26 โดยมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุน
กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วย หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร มีกำไรสุทธิ 3,873 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 44 โดยปัจจัยหลักมาจากภาวะตกต่ำของราคาเนื้อสัตว์ในประเทศ และการส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้น
และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย หมวดของใช้ในครัวเรือน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดแฟชั่น มีกำไรสุทธิ 2,328 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 31

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ