นายวิริทธิ์พล จุไรสินธุ์ ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บมจ.พริมา มารีน (PRM) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้และกำไรสุทธิจะเติบโต 10-15% ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง (นิวไฮ) จากปีนี้ เป็นไปตามการเติบโตของ 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีเหลว (ธุรกิจเรือขนส่งฯ) 2.ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมัน (ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU) 3. ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (ธุรกิจเรือ Offshore) และ 4. ธุรกิจบริหารจัดการเรือ (ธุรกิจบริหารเรือ)
บริษัทมีแผนขยายกองเรืออีกไม่น้อยกว่า 5 ลำในปีหน้า แบ่งเป็น เรือขนส่งขนาดใหญ่ 2 ลำ เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าที่จะใช้เรือ โดยเฉพาะเรือ FSU ประเภท VLCC และ ขยายกองเรือขนส่งขนาดเล็กอีก 3 ลำเพื่อทดแทนเรือที่จะขายออก 2-3 ลำ จากปัจจุบันบริษัทมีกองเรือทั้งสิ้น 40 ลำ แบ่งเป็น เรือขนส่งขนาดเล็กในประเทศ 30 ลำ โดยเป็นของ PRM และบริษัทย่อย คือ บริษัท บิ๊กซี จำกัด (Big Sea) เจ้าของกองเรือขนส่งขนาดเล็ก (Small Vessels), เรือขนส่งระหว่างประเทศ 1 ลำ, กลุ่มเรือ FSU จำนวน 8 ลำ และกลุ่มเรือ Offshore 1 ลำ
สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้เรือในปี 64 นักวิเคราะห์หลายแห่งคาดการณ์ราคาน้ำมันในอนาคตจะปรับตัวสูงกว่าราคาปัจจุบัน หรือเคลื่อนไหวในกรอบ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลทำให้จะมีปริมาณการกักเก็บและปริมาณการใช้เรือมีทิศทางสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องของโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดในยุโรปและสหรัฐ ซึ่งก็จะมีผลกระทบกับราคาน้ำมัน รวมถึงการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกด้วย
ขณะที่ราคาน้ำมันเตา HSFO และ LSFO ปัจจุบันราคาน้ำมันเตา LSFO ได้ปรับตัวลดลงสอดคล้องกับราคาน้ำมันเตา HSFO ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเตา LSFO เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณการใช้เรือก็น่าจะสูงขึ้น เนื่องจากโอกาสที่เรือจะออกไปติดตั้ง scrubber มีน้อยลง จากต้องใช้เวลานาน จึงคาดการณ์ว่าทิศทางน้ำมันเตา LSFO จะยังคงสดใส
นายวิริทธิ์พล กล่าวว่า ส่วนผลประกอบการในปี 63 บริษัทมั่นใจว่ารายได้และกำไรสุทธิจะเติบโตเกินเป้าหมาย 10-15% และทำสถิติสูงสุดใหม่ จากปีก่อนที่มีรายได้ 5,544.46 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,023.38 ล้นาบาท โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีรายได้ 4,508.3 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,243.1 ล้านบาท โดยมองแนวโน้มในไตรมาส 4/63 ก็น่าจะเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และทำได้ใกล้เคียงกับไตรมาส 3/63 ที่มีรายได้ 1,508.2 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 456.3 ล้านบาท ตามการเติบโตของธุรกิจเรือ FSU จากปริมาณเรือและการปรับค่าบริการให้เช่าเรือ FSU
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจเรือ FSU ถือเป็นกลุ่มที่สร้างการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดทั้งรายได้และอัตราการทำกำไรขั้นต้น หลังจาก PRM ได้ขยายกองเรือในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8 ลำ จากเดิมที่มี 5 ลำ โดยสามารถเก็บเกี่ยวโอกาสทางธุรกิจจากความต้องการใช้เรือที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้บริการเรือเต็ม 100% รวมทั้งสามารถปรับอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้น 20% สอดคล้องกับทิศทางของตลาด
ขณะที่กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศ แม้ว่าปีนี้ต้องเผชิญปัจจัยลบจากโควิด-19 แต่ด้วยนโยบายการบริหารจัดการโดยมุ่งรักษาอัตราการใช้เรือมากกว่า 90% ซึ่งสามารถทำกำไรได้ดีกว่าการจ้างเรือขนส่งภายนอก ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้มาได้ เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจเรือ Offshore และธุรกิจบริหารจัดการเรือ ที่ยังคงรักษาความสามารถในการดำเนินงานที่ดีเช่นกัน
"เรามั่นใจว่าจะผลักดันการเติบโตในปีนี้ได้ตามแผน อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่มีมายาวนาน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพกองเรือที่มุ่งสร้างความแข็งแกร่งเพื่อรับโอกาสทางธุรกิจ และสามารถบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายวิริทธิ์พล กล่าว