นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV) และสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวในงาน "Restart Thailand 2021" ว่า สถานการณ์ธุรกิจการบินในประเทศช่วงเดือน ธ.ค.63 เริ่มกลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนที่นั่งภายในประเทศ 4 ล้านที่นั่ง โดยสายการบินไทยแอร์แอร์เอเชียได้ทำการบินเส้นทางในประเทศเท่าเดิมแล้ว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ก็นับว่ายังไม่ปกติ แม้ว่าคนไทยกลับมาเดินทางแล้วแต่ต่างชาติยังไม่กลับมา ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีสัดส่วนผู้โดยสาร ประกอบด้วย ผู้โดยสารต่างประเทศ 40% และผู้โดยสารในประเทศ 60% ทำให้ภาพรวมรายได้ของบริษัทยังไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม โดยมีรายได้เข้ามา 30-40% ของรายได้ปกติ ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายยังคงมีอยู
สำหรับภาพรวมในไตรมาส 4/63 คาดว่าอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยที่ 80-85% อย่างไรก็ตามช่วงที่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 คนไทยที่เดินทางจากเมียนมาลักลอบเข้าประเทศผ่านทาง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงรายนั้น ก็ส่งผลให้ผู้โดยสารที่จองที่นั่งประมาณ 20-30% ไม่ทำการบิน หลังจากนี้ก็ต้องติดตามการจองล่วงหน้าว่าเป็นอย่างไร ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงยอดจองล่วงหน้าเช่นกัน
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 63 และทำให้ธุรกิจการบินหยุดดำเนินการในเดือน เม.ย. ส่งผลให้เครื่องบิน 60 ลำจอดสนิทที่สนามบินดอนเมือง ทำให้บริษัทไม่มีรายได้เข้ามาเลย
"สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ไม่มีใครรู้ว่าจะจบอย่างไร การระบาดครั้งนี้ไม่เหมือนโรคซาร์ส โรคเมอร์ส และได้ระบาดไปทั่วโลก ทำให้บริษัทได้เรียนรู้"นายสันติสุข กล่าว
นายสันติสุข กล่าวอีกว่า บริษัทได้เริ่มเปิดบินเส้นทางในประเทศในเดือน พ.ค.ที่ทำการบิน 8-9% ของ Capacity ที่เคยบินไว้ ขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องรักษาสภาพคล่อง และพยายามรักษาพนักงานไว้ เนื่องจากธุรกิจการบินต้องอยู่ได้ โดยสหประชาชาติระบุว่าธุรกิจการบินโลกต้องกลับมา เพราะเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีวัคซีนต้านโควิด-19 ก็ต้องมีการขนส่งวัคซีนข้ามประเทศ และธุรกิจการบินก็ยังช่วยสนับสนุนภาพรวมเศรษฐกิจ แม้ว่าในช่วงแรกนักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจจะยังไม่กลับมาเหมือนเดิมที่ 40 ล้านคน
ดังนั้น จึงขอเสนอแนะกับรัฐบาลว่าจะต้องให้ธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ได้ โดยสายการบินได้ขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท จากเดิม 2.4 หมื่นล้านบาทเพื่อรักษาบุคลากร เช่น นักบินซึ่งเป็นอาชีพที่มีความชำนาญเฉพาะทาง เช่นเดียวกับ ธุรกิจโรงแรม สนามบิน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องซอฟท์โลนดังกล่าว
ขณะเดียวกันเรื่องสาธารณสุขก็ต้องรักษามาตรฐานไว้ โดยที่ผ่านไทยสามารถโชว์ให้ต่างประเทศให้เห็นแล้ว และในปี 64 ก็คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนและกระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรืออาจจะเป็นโอกาสของการท่องเที่ยวที่เข้ามาฉีควัคซีนพร้อมเที่ยวไทยด้วย ก็จะทำให้ไทยเป็น Vaccine Hub นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมี infrastructure ด้านการแพทย์รองรับ ได้แก่ โรงพยาบาล การบริการด้านการแพทย์ (Medical Service) ที่จะเข้ามาดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ดังนั้น จึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเปิดประเทศเพื่อ Restart ประเทศไทย