CONSENSUS: โบรกฯเชียร์ ซื้อ KBANK ชู Valuation ต่ำ-รับผลบวกจากเศรษฐกิจฟื้นปีหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 21, 2020 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จากมูลค่าหุ้น (Valuation) ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าราคาหุ้นจะฟื้นตัวขึ้นมากและเร็วในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม โดยเป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า เพราะเมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวก็น่าจะทำให้ความต้องการสินเชื่อฟื้นขึ้นด้วย รวมทั้งเป็นธนาคารที่ปรับตัวสู่ยุค Digital ค่อนข้างดี

ประกอบกับ KBANK มีการตั้งสำรองฯในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 ไว้สูงมากกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มแบงก์ ช่วงลดแรงปะทะจาก NPL ในระหว่างรอเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว และยังมีฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามคาดการณ์กำไรสุทธิปี 63 ของ KBANK คาดว่าลดลงจากปีที่แล้ว หลังสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่เชื่อว่าปีหน้า KBANK จะกลับมามีกำไรเติบโตขึ้นได้

นอกจากนี้ KBANK เป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของ Fund Flow และในสัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ก็มีลุ้นการทำ Window Dressing ในหุ้น KBANK จากคาดหวังว่าบรรดากองทุนจะเข้ามาเก็บหุ้น KBANK ด้วย

พักเที่ยง ราคาหุ้น KBANK อยู่ที่ 113.50 บาท ลดลง 5.50 บาท หรือ 4.62% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 3.06%

          โบรกเกอร์                       คำแนะนำ                   ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)        ซื้อ                           181.00
          อาร์เอชบี (ประเทศไทย)              ซื้อ                           141.00
          เคทีบี (ประเทศไทย)                 ซื้อ                           130.00
          โนมูระ พัฒนสิน                      ซื้อ                           130.00
          เอเชีย พลัส                        ซื้อ                           126.00
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)                 ซื้อ                           103.00

นายเวทิต ตั้งจินดากุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวให้เหตุผลที่แนะนำ"ซื้อ"หุ้น KBANK จากให้น้ำหนักที่ราคาหุ้นขณะนี้ถือว่ายังต่ำอยู่ แม้ว่าราคาหุ้นจะมีการฟื้นตัวขึ้นมากและเร็วในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้มีการพักตัวก่อนที่จะฟื้นตัวต่อไปได้ในปีหน้า อีกทั้ง KBANK เป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนสินเชื่อ SME อยู่มาก เมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นก็น่าจะทำให้ความต้องการสินเชื่อฟื้นตัวไปด้วย และ Fund Flow ที่ไหลเข้ามาก็จะเข้ามาลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึง KBANK ด้วย

นอกจากนี้ KBANK มีการตั้งสำรองฯในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 ไว้สูงมากกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มแบงก์ ขณะที่คาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตสินเชื่อ 10.4% จากปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อ Corporate แต่ในแง่กำไรสุทธิจะลดลง 44% จากปีที่แล้วมาที่ 22,865 ล้านบาท รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่เชื่อว่าปีหน้า KBANK จะกลับมามีกำไรเติบโตขึ้นได้ราว 15% มาที่ 26,323 ล้านบาท จากรายได้ที่น่าจะดีขึ้น และต้นทุนที่ลดลงจากการควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งในสัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ก็มีลุ้นทำ Window Dressing ในหุ้น KBANK จากคาดหวังว่าบรรดากองทุนจะเข้ามาเก็บหุ้นด้วย

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า KBANK ยังมี Upside จากราคาหุ้นอีกมาก แม้ราคาหุ้นปรับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่จากการประเมินทางสถิติพบว่าในแง่การประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) ปัจจุบันยังซื้อขายที่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี อีกทั้งคาดการณ์ว่ากำไรปี 64 จะกลับมาฟื้นตัว 14% หลังจากปีนี้กำไรปรับตัวลงลึก 47% ขณะที่ฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่ง

บทวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า KBANK ยังมีความน่าสนใจจาก Valuation ที่ปัจจุบันยังซื้อขายที่ระดับ 0.6x PBV ยังอยู่ในระดับต่ำที่ -2SD ขณะที่มีการตั้งสำรองฯในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 เผื่อไว้ในระดับที่สูงมากแล้ว และหากวัคซีนต้านโควิด-19 มา หุ้น KBANK ก็น่าจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุด เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อที่อิงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 20%

สำหรับ บล.เอเชีย พลัส ระบุบทวิเคราะห์ว่า KBANK มีการตั้งสำรองที่สูงหนุนกำไรฟื้นตัวเร็วขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้น และเป็นธนาคารที่ปรับตัวสู่ยุค Digital ค่อนข้างดี โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง-ยาว มากขึ้น ประกอบกับการตั้งสำรองสูงช่วง 9 เดือนปี 63 ช่วงลดแรงปะทะจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระหว่างรอเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว รวมถึงกระแส Fund Flow จากต่างชาติ ซึ่งนิยมหุ้นในกลุ่มธนาคาร

ทั้งนี้ เริ่มเห็นเครื่องยนต์ต่าง ๆ กลับมาทำงานได้มากขึ้น ทั้งจากมาตรการกระตุ้นภาคครัวเรือน และแรงส่งจากการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว เริ่มเห็นการฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังปี 64 ภายหลังวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 4/64 ถึง ไตรมาส 1/65 ที่เป็น High Season ประกอบกับสถานกาณณ์การส่งออกในปี 64 มีแนวโน้มดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาพดังกล่าวเป็นบวกต่อคุณภาพสินทรัพย์ของ KBANK


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ