บมจ. ที.ซี.เจ.เอเซีย(TCJ)ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าและจัดจำหน่ายเครื่องจักรกลหนัก คาดปี 50 รายได้ของบริษัทจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 726 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทได้รับการแต่งตังเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยกและยานยนต์อุตสาหกรรม ภายใต้แบรนด์ OM จากอิตาลีนำเข้ามาขายในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และ พม่า คาดว่าปีนี้จะมียอดจำหน่ายและให้เช่าราว 100 คัน
นายทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ กรรมการผู้จัดการ TCJ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังพยายามที่จะทำรายได้ให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ 850 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกมียอดรายได้เข้ามาแล้ว 451 ล้านบาท แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง
บริษัทเชื่อว่าการขยายธุรกิจใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพันธมิตรอิตาลีให้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถโฟร์คลิฟท์และยานยนต์อุตสาหกรรมสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรมโรงงานและระบบโลจิสติก ภายใต้แบรนด์โอเอ็ม (OM) แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และ เมียนมาร์ จะช่วยหนุนให้ทีซีเจ เอเซีย รุกเข้าสู่ตลาดภาคอุตสาหกรรมและระบบโลจิสติกอย่างเต็มที่
"บริษัทฯ มีแผนงานที่จะขยายฐานทางธุรกิจ โดยจะเน้นจับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง และโลจิสติกส์ ถือเป็นการรุกเข้าสู่อีกหนึ่งธุรกิจของเรา ซึ่งก่อนหน้านี้เราทำธุรกิจทางด้านเครื่องจักรกลหนัก และท่อสแตนเลสเป็นหลัก แต่หากดูจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศในด้านระบบโลจิสติกในประเทศไทย ธุรกิจนี้น่าจะเติบโตได้ดี" นายทรงวุฒิ กล่าว
ปัจจุบัน ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่รถยกทั้งประเภทโฟร์คลิฟท์และรถยกสำหรับคลังสินค้า(warehouse)ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการจัดวางและลำเลียงส่วนประกอบรวมทั้งผลิตภัณฑ์ในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทฯ สามารถขยายขอบเขตการทำธุรกิจได้อีกมาก โดยมูลค่าตลาดรวมของรถโฟร์คลิฟท์มีประมาณ 4 พันล้านบาทต่อปี และมีอัตราการเติบโตราว 10 % ต่อปี
นายทรงวุฒิ คาดว่า ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้บริษัทจะสามารถทำรายได้จากธุรกิจใหม่ดังกล่าวประมาณ 20 ล้านบาท จากยอดจำหน่ายและให้เช่าจำนวน 100 คัน ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นการให้เช่า และคาดว่าในปี 51 จะมีรายได้เพิ่มเป็น 90 ล้านบาทจากยอดจำหน่ายและให้เช่าเพิ่มเป็น 250 คัน
นายทรงวุฒิ กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาหาธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเข้ามา เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกลหนัก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตร หรือ รับหน้าที่เป็นตัวแทนขายในลักษณะเดียวกับรถโฟร์คลิฟท์ของ OM
ด้านนางสาวจีรภา เบญจพลวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการเงิน TCJ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ภายใน 2 ปีนับจากปี 51 ส่วนจะเป็นบริษัทใดขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจไหนมีแนวโน้มในการเติบโต และภาวะตลาดด้วย
ปัจจุบัน บริษัทถือหุ้นใน บริษัท บิ๊กเครนแอนด์ อิควิปเม้นต์ เร้นทัลส์ จำกัด จำนวน 99.99%, บริษัท โตโยมิลเลนเนียม จำกัด
จำนวน 51% และบริษัท UNIC SALES (THAILAND) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น ถือหุ้น 60%
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--