PHATRA เป็นงงโบรกตปท.เพิ่งคิดโวยทบทวนเกณฑ์ Exclusive Partner

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 24, 2007 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ผู้บริหาร PHATRA ไม่เข้าใจท่าที 6 โบรกฯต่างประเทศที่ขอให้ทางการทบทวนหลักเกณฑ์ Exclusive Partner โดยอ้างว่ากระบวนการทำเฮียริ่งขาดความโปร่งใส รวมทั้งการกำหนดอัตราค่านายหน้าไม่เป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่เรื่องผ่านมาถึง 7 เดือนแล้วเพิ่งมาร้อง และการเฮียริ่งก็ทำตามขั้นตอนทุกอย่างครบถ้วน พร้อมระบุทำให้ความร่วมมือเกิดประโยชน์ แต่หากล้มเลิก Exclusive Partner เท่ากับตัดโอกาสโบรกฯไทยที่จะพัฒนา
นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ภัทร(PHATRA)ซึ่งมี เมอร์ริล ลินช์ เป็น Exclusive Partner กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า เกณฑ์ Exclusive Partner ได้อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค.50 หลังจากที่ปิดรับฟังความเห็น(เฮียริ่ง)ไปในช่วง พ.ย.49 นับเป็นระยะเวลาที่ผ่านไปค่อนข้างนานกว่าที่โบรกเกอร์ต่างประเทศจะลุกขึ้นมาร้องขอให้ทบทวน ซึ่งเป็นเรื่อง"ตลก"
"บริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศบอกว่าอันนี้ไม่เป็นธรรม การออกเรื่องนี้มันไม่โปร่งใส มันไม่มีกระบวนการ ผมก็คิดว่ากระบวนการทุกอย่างครบถ้วน มีการเฮียริ่งสมาชิกฯ และตลาดฯก่อนจะออกเรื่องนี้ เป็นส่วนหนึ่งของอัตราโครงสร้างคอมมิชชั่นที่มีการปรับกันเมื่อตอนปลายปี ก็ออกมาอย่างงั้น
ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมบอกว่าตัวเองไม่รับรู้ ไม่รับรู้เพราะไม่สนใจ หรือเอ๊ะ...ไม่ได้คิดว่าเออมันเป็นเรื่องที่สำคัญ พอมันผ่านไป 7 เดือนก็บอกว่ามันสำคัญ คือมันก็ตลกเหมือนกัน"
*หลักการของความร่วมมือในลักษณะ Exclusive Partner เป็นอย่างไร
"หลัก Exclusive Partner จริง ๆ แล้วเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์ไทยได้ทำธุรกิจในต่างประเทศได้บ้าง โดยตลาดหลักทรัพย์บอกว่าบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศจะต้องเก็บหน้านายหน้ากับนักลงทุนต่างประเทศไม่น้อยกว่า 0.25% เหมือนกัน เพื่อให้ทุกคนที่ลงทุนในประเทศไทยมีการจ่ายอัตราค่านายหน้าในอัตราที่เท่ากัน อย่างน้อยต้องเท่านั้น ใครจะจ่ายมากกว่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โดยหลักสำหรับผู้ลงทุนไม่ว่าอยู่ที่ไหนซื้อขายหุ้นไทยจะมีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน อย่างน้อยเหมือนกัน บางคนอาจจะจ่ายแพงก็อยู่กับค่าบริการอื่นที่เขาซื้อ
ขณะเดียวกันโดยหลัก Exclusive Partner จะเป็น 1 ต่อ 1 ซึ่งก็คือว่า ต้องการให้บริษัทหลักทรัพย์ไทย กับบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ทำธุรกิจร่วมกันเป็นเหมือนพาร์ทเนอร์ที่ต้องช่วยกันให้มองธุรกิจไทยเป็นธุรกิจที่ทำด้วยกัน ซึ่งอันนี้จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาในเรื่องของการถ่ายทอดด้านต่าง ๆ ทั้งความรู้ ทั้งเทคโนโลยี เพื่อให้การค้าธุรกิจมันขยายได้"
*ประเด็นที่เป็นปัญหาจากเกณฑ์ Exclusive Partner คืออะไร
"ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ เมืองไทยมีการกำหนดอัตราขั้นต่ำของค่านายหน้าฯไว้ที่ 0.25% แต่ค่านายหน้าของบริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศกำหนดไว้ประมาณ 0.30-0.35% ถ้าหากยังใช้หลักเดิมบริษัทหลักทรัพย์ไทยจะต้องเก็บค่านายหน้ากับพาร์ทเนอร์ต่างชาติในอัตรา 0.25% ตัวบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศจะเหลือ 0.05-0.1% และเขาเองก็ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมดในการทำธุรกรรมกับ Fund Manager กับต่างประเทศ ผลตอบแทนจากความเสี่ยงอาจจะไม่ justify เพราะบริษัทหลักทรัพย์ไทยได้ 0.25% แต่เขาได้แค่ 0.05%
วันนี้ถ้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ไทยไปทำธุรกิจกับนักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในไทยจะมีปัญหาที่ติดอยู่คือว่า เวลาทำธุรกิจกันจะมี counter party ในทางการค้าเราก็มีหน้าที่จะต้องส่งเงินให้เวลาเขาขาย ส่งหุ้นให้เวลาเขาซื้อ วันนี้แนวโน้มทั่วโลกพวก Fund ใหญ่ ๆ เขาใช้โบรกเกอร์น้อยลง และ Credit risk ที่เขาจะยอมรับได้กับบริษัทหลักทรัพย์ไทยอาจจะไม่ได้อยู่ในมาตรฐานของเขา ทำให้เราทำธุรกิจยาก
ถ้าไม่มีเรื่อง Exclusive Partner ก็บอกได้เลยว่าบริษัทหลักทรัพย์ไทยคงจะไม่มีโอกาสหรอกครับที่จะไปทำธุรกิจกับลูกค้าต่างประเทศได้อย่างวงกว้าง ก็ต้องมาแข่งกันเองในตลาดนี้ คุณภาพต่าง ๆ ที่เราพยายามทำเพื่อให้ลูกค้าในเมืองไทยได้มีของที่ดีก็คงไม่มีโอกาส การมีพาร์ทเนอร์ต่างชาติเป็นผลดีในเรื่องคุณภาพ ขอบเขตธุรกิจที่สามารถมีอะไรได้มากขึ้น"
*ทำไม PHATRA ไม่เก็บค่านายหน้าฯจาก Exclusive Partner ในอัตรา 0.25%
"หลังจากที่ตลาดฯอนุญาตให้ทำเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ จริง ๆ แล้ว เรามีพาร์ทเนอร์อยู่แล้วคือเมอร์ริล ลินซ์ ซึ่งจริง ๆ เมอร์ริล ลินซ์ได้รับมาร์จินนิดเดียว ก็อย่างที่ผมบอกเขาจ่ายเรา 0.25% มาตั้งนานแล้ว ซึ่งถ้าทำรูปแบบนั้นต่อไป ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะยังสามารถทำได้ไหม เพราะคนเราจะไปรับภาระได้ไงยาวนานตลอดไป มันเป็นไปไม่ได้ อันนี้ก็ช่วยทำให้มีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจมากขึ้น
และจริง ๆ แล้วภัทรได้รับประโยชน์มหาศาลในการทำธุรกิจกับเมอร์ริล ลินซ์ บุคลากรก็ดีขึ้น ลูกค้าเราดีขึ้นด้วย เพราะเรามีข้อมูลที่มีคุณภาพ เป็นข้อมูลที่จริง ๆ แล้วใช้บทวิเคราะห์ฯของบริษัทหลักทรัพย์ระดับโลกมาช่วย จริง ๆ การลงทุนในตลาดหุ้นมันหนีกระแสโลกกาภิวัฒน์ไม่พ้นอยู่แล้ว เพราะจริง ๆ มันได้ประโยชน์หลายฝ่าย
อัตราคือ 60% ของอัตรามาตรฐาน ซึ่งเราก็จะชาร์จไม่ต่ำกว่า อาจจะเป็นบางอันสูงกว่าบางอันอาจจะเท่านั้น ตอนที่เริ่ม start เราคิดเขา 0.175% แต่ทั้งนี้เวลาไปมันอยู่ที่ว่าทางเมอร์ริล ลินซ์เองมันเป็นเรื่องของ commercial ที่ต้องต่อรองกันนะครับ แต่ floor มันอยู่ตรงนั้น 0.15% ก็คือ 60% ของอัตรามาตรฐานที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ก็คือ 0.25%
ถ้าหากเกิดมีการเปลี่ยนข้อบังคับใหม่ อันนี้ตลาดฯอนุมัติมาแล้วเกิดยกเลิกไป เราก็ต้องกลับไป เพราะเราเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ และถูกข้อบังคับครอบงำอยู่ ตลาดหลักทรัพย์มีมติอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้น"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ