บมจ.การบินไทย (THAI) ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันผลประกอบการให้พลิกกลับมามีกำไรในปี 68 โดยคาดว่ารายได้จะฟื้นขึ้นมาที่ราว 1.25 แสนล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าปี 62 ราว 29% ขณะที่จะมีการปรับลดฝูงบินอย่างต่อเนื่องเหลือ 75 ลำ ลดลงจากปัจจุบันราว 26%
เจ้าหน้าที่ของบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของ THAI เปิดเผยว่า ผู้จัดทำแผนฟื้นฟู THAI เตรียมยื่นแผนในวันที่ 2 ก.พ.64 เลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 2 ม.ค.64 เนื่องจากยังเจรจากับเจ้าหนี้ไม่แล้วเสร็จ โดยจะยื่นขอขยายเวลาในต้นสัปดาห์หน้า
หลังจากนั้นคาดว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ในช่วงกลางเดือน มี.ค. 64 และคาดว่าศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาและเห็นชอบแผนในเดือน เม.ย.64 แต่ไม่เกินเดือน พ.ค.64 โดยคาดจะใช้ระยะเวลาฟื้นฟูกิจการ 5-7 ปี ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้
ด้ายนายนนท์ กลินทะ รักษาการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน THAI กล่าวว่า จากที่สถานการณ์การระบาดโควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินทั่วโลกและการบินไทย จนทำให้บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู หากผ่านฟื้นฟูกิจการผ่าน บริษัทจะมุ่งเน้นการรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ปรับช่องทางการขายไประบบดิจิทัลมากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าจะกลับมามีรายได้ 1.25 แสนล้านบาทในปี 68 ซึ่งต่ำกว่าปี 62 ราว 29% โดยจะทยอยปรับฝูงบินจากปัจจุบันใช้อยู่ 17-25 ลำ เพิ่มเป็น 37-45 ลำ และจะเพิ่มสูงสุดที่ 75 ลำในปี 68 ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลง 26% จากปี 62 ที่มีจำนวน 102 ลำ โดยมีแผนจะเพิ่มจุดหมายปลายทางเป็น 75-80 เมือง จากที่บินอยู่ 25-35 เมือง และจะเพิ่มเป็น 45-55 เมืองในที่สุด
แม้ว่ารายได้จะลดลงจากในอดีต แต่บริษัทคาดว่าจะกลับมามีกำไรในปี 68 สาเหตุหลักมาจากการปรับลดค่าใช้จ่ายลงไปถึง 36% โดยมีการขอปรับลดค่าเช่าและค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน รวมทั้งจะมีความสามารถทำกำไรดีขึ้น โดยอัตรากำไรต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) จะกลับมาเป็นบวก 0.1 บาท/ที่นั่ง จากก่อนช่วงโควิด หรือในปี 62 ที่อยู่ในระดับติดลบ 0.2 บาท/ที่นั่ง หรือเพิ่มขึ้น140%
ทั้งนี้ คาดว่าเที่ยวบินต่างประเทศจะกลับมาเริ่มทำการบินได้ในไตรมาส 3/64 แต่ก็ขึ้นกับสถานการณ์ จากปัจจุบันการบินไทยมีเที่ยวบินขนส่งสินค้า (cargo) และเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารรวม cargo ตามความต้องการ
ขณะเดียวกัน บริษัทได้ดำเนินการปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งทำให้ภายในปี 68 คาดว่าจำนวนพนักงานจะปรับลงเหลือประมาณ 1.3-1.5 หมื่นคน จาก 2.9 หมื่นคนในปี 62 หรือลดลง 52%
ด้านนานเชิดพงษ์ โชติกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง THAI กล่าวว่า โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อยู่ระหว่างเจรจากับผู้สนใจเข้าร่วมทุน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเริ่มดำเนินการหลังจากแผนฟื้นฟูได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลาง
ส่วนนายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี THAI เผยว่า ขณะนี้ รายได้ของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ มี.ค.63 โดยจากเดิมมีรายได้ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท/เดือน ลดลงมาปัจจุบันไม่ถึง 1 พันล้านบาท/เดือน อย่างไรก็ดีจะพยายามรักษากระแสเงินสดไว้ให้นานที่สุด โดยประเมินว่าจะมีกระแสเงินสดพอใช้ได้ถึงเดือน พ.ค.64
ขณะที่ธุรกิจครัวการบิน คาดว่าจะเปิดเฟรนไชส์ปาท่องโก๋ของการบินไทยได้ในไตรมาส 1/64 หลังจากที่มียอดขายดีมาตลอดในช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในรอบแรกคลี่คลายลง ทำให้บริการเที่ยวบินในประเทศของการบินไทยกลับคืนมาราว 60-70% แต่ขณะนี้มีการระบาดรอบใหม่ทำให้หายไปอีก 10%