CPF ออกหุ้นกู้ 5 รุ่น อายุ 2-12 ปี ขายนลท.ทั่วไป-สถาบัน-รายใหญ่ ม.ค.64

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 25, 2020 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพศาล จิระกิจเจริญ ประธานผู้บริหารฝ่ายการเงิน บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนงานในการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อชำระหนี้ที่ครบกำหนดในปี 2564 การออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะมีการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป รวมทั้งผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่

โดยหุ้นกู้ที่เสนอขายให้แก่ ผู้ลงทุนทั่วไปมี 4 รุ่น คือ หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.99% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.15% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.60% ต่อปี และหุ้นกู้อายุ 12 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.80% ต่อปี

สำหรับหุ้นกู้อายุ 2 ปีเป็นรุ่นที่จำหน่ายให้กับผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่

ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนของหุ้นกู้อายุ 2 ปีจะทำการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง หุ้นกู้ทั้งหมดชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน คาดว่าจะเสนอขายให้ผู้ลงทุนภายในเดือนมกราคม 2564

หุ้นกู้ฯ ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ A+ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารและการมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทได้เป็นอย่างดี

สำหรับสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารออมสิน (เปิดจองซื้อเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่และที่สำนักงานใหญ่) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ธนาคารทหารไทย (TMB) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร ผ่าน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ส่วนสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารออมสิน (สำนักงานใหญ่)

โดยบริษัทหวังว่าคนที่พลาดการลงทุนครั้งที่แล้วจะมีโอกาสเข้ามาจองซื้อในครั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้จะใช้คืนหนี้ที่ครบกำหนดและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรวมถึงเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต

"ซีพีเอฟ" เป็นผู้ผลิตด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร (Feed-Farm-Food) ใน 17 ประเทศทั่วโลก โดยจำแนกประเภทธุรกิจหลักได้เป็น 3 ประเภท คือ 1.ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) 2.ธุรกิจผลผลิตจากการเลี้ยงสัตว์และแปรรูปเนื้อสัตว์ (Farm and Processing) และ 3.ธุรกิจอาหาร (Food) ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็น "ครัวของโลก" ซีพีเอฟจึงได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ที่ทันสมัย

สนับสนุนการผลิตและการแปรรูปเนื้อสัตว์อย่างมีคุณภาพ ขยายการผลิตอาหารพร้อมรับประทานเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรมด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาซึ่งระบบการผลิตที่ปลอดภัย มีสินค้าที่สามารถตอบสนองความพึงพอใจและพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ และยังให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม และสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสมด้วยความใส่ใจในผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

"ซีพีเอฟ" มีความแข็งแกร่งทางด้านฐานะการเงิน โดยผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 439,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากราคาสุกรในภูมิภาคเอเชียปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะขาดแคลนสุกรเนื่องจากการระบาดของโรค ASF และมีกำไรสุทธิ 19,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14,445 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานของซีพีเอฟในปี 2564 นั้น บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานยังคงดีอย่างต่อเนื่องจากปีนี้จากการลงทุนในธุรกิจสุกรในประเทศจีนและแคนาดาที่มีแนวโน้มเติบโต และประเทศเวียดนามที่มีการลงทุนในธุรกิจไก่ครบวงจรเพื่อส่งออกซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า รวมทั้งการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต อันจะส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง จึงมั่นใจว่าผลการดำเนินงานจะยังดีต่อเนื่องและฐานะการเงินแข็งแกร่งขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 บริษัทฯ ยังสามารถบริหารจัดการธุรกิจท่ามกลางวิกฤตได้อย่างโดดเด่น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและก่อเกิดความสำเร็จที่สำคัญ พร้อมๆ ไปกับการช่วยเหลือสังคม ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากโครงการส่งอาหารจากใจร่วมต้านภัยโควิด-19 รวมถึงสามารถป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มพนักงานของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้สายพานการผลิตของบริษัทฯ เดินต่อได้โดยไม่สะดุด ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร

ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังร่วมฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือ SMEs รวม 6,000 ราย ผ่านโครงการ F.T.I. Faster Payment ด้วยการปรับลดระยะเวลาเครดิตเทอมลงเหลือไม่เกิน 30 วัน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการรายย่อย และยังให้ความร่วมมือกับภาครัฐจ้างงานแรงงานจบใหม่เพิ่มอีกถึง 8,000 อัตรา เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าอย่างไม่สะดุด ก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างมั่นคง และเพื่อสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งต่อระบบเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ